วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการและคณะทำงาน ศูนย์ปฎิบัติการตามมาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าทับเบิก ซึ่งมีนายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นประธาน โดยคณะทำงานฝ่ายปฎิบัติการได้รายงานสรุปถึงการหารือกรณีมีผู้ประกอบการกลับเข้าใช้พื้นที่ที่มีการรื้อถอนไปแล้ว โดยการเปิดจุดกางเต้นท์รับบริการนักท่องเที่ยว และการตรวจสอบรีสอร์ตบนภูทับเบิกซึ่งมีจำนวน 102 รายให้เป็นปัจจุบัน การสรุปค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน 19 รีสอร์ตล็อตแรกห้วงเวลาตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.ถึงวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงการหารือถึงการเตรียมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรีสอร์ต 3 รายล็อต 2 หลังครบกำหนดเงื่อนเวลาตามคำสั่งให้รื้อถอนเอง 30 วันและแจ้งเตือนอีก 7 วันแล้ว โดยให้อำเภอหล่มเก่าดำเนินการด้านจิตวิทยา เพื่อสร้างความเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็น
นายสมลักษณ์ ยกน้อยวงษ์ นายอำเภอหล่มเก่า ได้ประเมินการรื้อถอนรีสอร์ตเป้าหมาย 3 หลัง หลังครบกำหนดเงื่อนเวลาวันที่ 20 พ.ย.ไปแล้ว โดยแจ้งว่า ระหว่างนี่มีรีสอร์ต 2 แห่งได้แก่ เอวาภูทับเบิกและร้านกาแฟสมอลวิวเจ้าของให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเริ่มทยอยรื้อ มีเพียงรีสอร์ตบ้านสายหมอกที่เจ้าของยังมีท่าทีไม่ยินยอม แม้ในรอบแรกจะโดนรื้อไปส่วนหนึ่งแล้วก็ตาม ส่วนรีสอร์ตในกลุ่ม 3 จำนวน 64 ราย การต่อต้านเริ่มอ่อนแรงเพียงแต่จะมีข้อแลกเปลี่ยนขอเก็บเกี่ยวรายได้ในช่วง 2-3 เดือน และหลังการทุบรื้อแล้วจะมีสิทธิเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวหรือไม่
“ที่จะเป็นปัญหาก็คือบ้านสายหมอกซึ่งมี 6 หลัง ขายไปแล้ว 2 หลังแต่รื้อออกไปแล้ว 1 หลัง จึงคงเหลืออีก 4 หลังซึ่งวิเคราะห์แล้วศักยภาพเจ้าของคงไมพอเพียงเพราะมีค่าใช้จ่ายสูงและค่อนข้างหัวหมอ ครั้งที่แล้วโดนรื้อไปบ้างแล้วคาดว่าเมื่อถึงเวลาก็คงยอมและไม่ขัดขืน แต่ถึงอย่างไรหากยังพูดไม่รู้เรื่องก็จะต้องสั่งให้รื้อเพราะต้องเป็นไปตามกฎหมายแต่ยืนยันจะใช้วิธีแบบละมุนละม่อมที่สุด”นายอำเภอหล่มเก่าระบุ
ด้านนายกฤษณ์ คงเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ในฐานะห้วหน้าคณะทำงานฝ่ายปฎิบัติการชี้แจงว่า ในส่วนรีสอร์ตกลุ่ม 3 จำนวน 45 รายซึ่งเป็นชาวม้งในพื้นที่หากรื้อถอนเองก็จะเข้าไปอยู่ในกติกาและแผนของ พม. เพราะไม่ได้ถูกดำเนินคดี แต่หากถูกคำสั่งศาลตัดสินและคำสั่งที่ 35/59 ซึ่งสั่งให้ผู้ประกอบการและบริวารออกจากพื้นที่ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งในที่ประชุมยังมีความอาทรต่อคนเหล่านี้กลัวจะเสียสิทธิในที่ดินทำกิน หากทางอำเภอทำความเข้าใจและมีการยอมรื้อถอนเองจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดี
“ส่วนรีสอร์ตที่มีนายทุนคนไทยนอกพื้นที่ 14 รายและรีสอร์ตชาวม้งนอกพื้นที่ อีก 5 ราย ส่วนนี้จะต้องถูกดำเนินการตามแนวเดิมอยู่แล้ว”นายกฤษณ์กล่าวย้ำและว่า ยังมีกรณีรีสอร์ตบนภูทับเบิกที่ตกสำรวจโดยไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีบางส่วน เนื่องจากจุดที่ตั้งทำเลอยู่ในหลืบหรือซอกเขา ซึ่งได้รับการชี้แจงจากศูนย์พัฒนาชาวเขาแล้วว่า จะมีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง ส่วนกรณีมีรีสอร์ตในกลุ่มแรกที่ถูกรื้อตามคำสั่งโยธาธิการจังหวัด ตรงนี้คงต้องมีการปรับข้อมูลเพิ่มรายชื่อเข้าไปในบัญชีกลุ่ม 3 อีกด้วย
ขณะที่ นายพิบูลย์กล่าวย้ำต่อที่ประชุมถึงการรื้อถอนรีสอร์ตยังใช้แนวทางเดิมโดยการรอคำตัดสินพิพากษาของศาลก่อน แต่ยังมีความกังวลกรณีรีสอร์ต 16 รายในกลุ่ม 2 ที่ล่าสุดยังไม่คำพิพากษาออกมาเพิ่มเติม โดยย้ำให้ทางป่าไม้เร่งประสานงานและติดตามทางสำนักอัยการจังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังให้ทางอำเภอหล่มสักเร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจเรื่องการรื้อถอนเองโดยชี้แนะควรมีกรอบเวลาด้วย ส่วนเรื่องสิทธิการใช้ที่ดินได้หรือไม่ต้องขึ้นอยู่แผนแม่บทและระดับนโยบายเท่านั้น จากนั้นยังกำชับให้เร่งดำเนินการเรื่องเรียกร้องค่าใช้จ่ายการรื้อถอน 19 รีสอร์ตในล็อตแรก โดยให้คำนึงการใช้จ่ายจริงและเป็นไปตามระเบียบและกรอบของทางราชการเป็นหลัก โดยพร้อมจะเป็นผู้ลงนามให้เอง ทั้งนี้นายพิบูลย์ยังประเมินด้วยว่า คงต้องมีผู้ประกอบการยื่นฟ้องร้องขอต่อสู้คดีแน่นอน จึงขอให้เตรียมหลักฐานไว้ให้พร้อม