วันที่ 25 สิงหาคม 2565 ณ ห้อง 403 อาคารศูนย์ประชุม อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี : ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา และ วิชาการ เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพและฐานข้อมูลของประเทศไทย ระหว่าง องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยมี ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ นักวิจัยและนักวิชาการทั้งสองหน่วยงานร่วมงาน
ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล รองผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าวว่า ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) เป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงสร้างพื้นฐานของ (สวทช.) ที่ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ชั้นนำสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพอันมีค่าของประเทศแบบระยะยาว เพื่อเป็นฐานที่สำคัญของการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสภาวะวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรชีวภาพอย่างถาวรในธรรมชาติ นอกจากนี้ NBT ยังเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลทรัพยากรชีวภาพที่น่าเชื่อถือพร้อมกับการนำเอาข้อมูลระดับจีโนมและสารสนเทศอื่นๆ ที่เกิดจากการวิจัยบนทรัพยากรชีวภาพเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นระบบสารสนเทศเพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำไปสู่การค้นพบองค์ความรู้ใหม่
นอกจากนั้นแล้ว NBT ยังสนับสนุนการเชื่อมโยงของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรในประเทศและนานาชาติ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยยังสามารถเก็บรักษาหรืออนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพไว้ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับความร่วมมือกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพและนำข้อมูลทรัพยากรชีวภาพอันมีค่ามาใช้ประโยชน์ จะมีการพัฒนาต่อยอดเป็นระบบสารสนเทศที่เป็นฐานข้อมูลกลางด้านทรัพยากรชีวภาพสัตว์ของประเทศไทย สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทรัพยากรชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในงานวิจัยใหม่ๆ นำไปสู่การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สังคมและสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ และยังสามารถรักษาสมดุลในการใช้ทรัพยากรตามกรอบความคิด “BCG model” อันเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย
ด้าน นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัย และการเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพ เพื่อการอนุรักษ์สัตว์อย่างยั่งยืน ซึ่งมีสวนสัตว์ 6 แห่งในความดูแลรับผิดชอบ ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์ขอนแก่น สวนสัตว์อุบลราชธานี และอีก 1 โครงการ คชอาณาจักรสุรินทร์ โดยมีสัตว์ที่อยู่ในความดูแลกว่า 600 ชนิด 8,000 กว่าตัว ที่มีคุณค่าและส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าหายาก ซึ่งอยู่ในภาวะถูกคุกคามที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และบางชนิดไม่สามารถพบได้แล้วในธรรมชาติ
ดังนั้นจึงถือได้ว่าสัตว์ป่าในสวนสัตว์ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ องค์การสวนสัตว์ฯ จึงมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งด้านบริหารจัดการ อนุรักษ์ วิจัยสัตว์ป่า ทั้งในถิ่น และนอกถิ่นอาศัย โดยพัฒนาการอนุรักษ์วิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างนวัตกรรมที่สนับสนุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ผลงานวิจัย ให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์แก่สาธารณชน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่คุกคามการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าในปัจจุบัน ความเชี่ยวชาญของนักวิทยาศาสตร์ และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านสุขภาพ พันธุศาสตร์ โภชนศาสตร์ สัตวศาสตร์ และวิทยาการสืบพันธุ์ จึงมีความสำคัญและต้องบูรณาการร่วมกันฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าและสนับสนุนให้การอนุรักษ์สัตว์ป่าในธรรมชาติให้มีความยั่งยืน (viable population) ต่อไป
“ตัวอย่างโครงการนกกระเรียนคืนถิ่นที่พลิกวิกฤตการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าในธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์ ด้วยศาสตร์หลายแขนง และความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน นอกจากนี้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ โดยสถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ ได้รวบรวมและเก็บรักษาเซลล์สืบพันธุ์ เซลล์ร่างกาย และสเต็มเซลล์ของสัตว์ป่าหายากในรูปแบบการแช่แข็ง เพื่อเป็นแหล่งสำรองความหลากหลายทางพันธุกรรมและชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษา วิจัยและขยายพันธุ์ต่อไปในอนาคต”
อย่างไรก็ตามจากความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและความต้องการในการพัฒนาองค์ความรู้ในการรักษาทรัพยากรชีวภาพดังกล่าว และนำมาสู่ความร่วมมือกับทาง (สวทช.) ในการนำเทคโนโลยีซึ่งเป็นจุดเด่นมาใช้เพื่อการเก็บรักษาทรัพยากรสัตว์ที่มีค่าของประเทศร่วมกันครั้งนี้ องค์การสวนสัตว์ฯ หวังว่าจะก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้จาก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยร่วมกันเพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน