วันที่ 25 สิงหาคม 2565 เวลา 08.30 น. ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาวิชาการ “นวัตกรรมการศึกษาเอกชน เพื่อคนเชียงใหม่” โดยมี นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (รองเลขาธิการ กช.),นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการภาค 15,นางยุพิน บัวคอม ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ และ ข้าราชการ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้แทนโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมการอบรมฯ ณ โรงแรม Horizon Village Resort Chiangmai อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 จึงได้ประกาศนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ 2564–2565 กำหนดให้มีการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนา ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย การที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนเอกชน เพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะ จึงเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ดิฉันจึงยินดีมาก ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ได้นำพาโรงเรียนเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมดำเนินการพัฒนาโรงเรียน ให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและสอดคล้องกับเป้าหมายของต้นสังกัดอีกด้วย
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ กล่าวอีกว่า การจัดอบรมสัมมนาวิชาการ “นวัตกรรมการศึกษาเอกชน เพื่อคนเชียงใหม่” ในวันนี้ ตนเข้าใจว่า นอกจากเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานตามโครงการของ สช. แล้ว ยังเป็นการนำเสนอผลงานในฐานะที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอีกด้วย เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อดำเนินการขยายผลไปใช้สถานศึกษาอื่น ซึ่งการนำเสนอผลงานของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้ง 11 โรงเรียน ที่ได้นำมาแสดงในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบหรือนวัตกรรมการศึกษาเอกชน เพื่อคนเชียงใหม่ ได้สมกับชื่อของงานได้เป็นอย่างดี
ด้านนายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการ (กช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า (สช.) ได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ตามนโยบายและจุดเน้นการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ระบุว่า การจัดการศึกษาเป็นการให้ครูและผู้เรียนสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและจัดการเรียนรู้แบบองค์รวม โดยมีจุดเน้น คือ การเรียนรู้ด้วยวิธีการ Active Learning จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ขึ้น มีเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนเอกชน เพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะ เน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล และมีกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 และดำเนินโครงการ ต่อเนื่องจนถึงปีการศึกษา 2565
การอบรมสัมมนาวิชาการ “นวัตกรรมการศึกษาเอกชน เพื่อคนเชียงใหม่” ในวันนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ให้เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นสมรรถนะของผู้เรียน ได้นำเสนอผลการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับโรงเรียนอื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่กำลังพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อมุ่งสู่สมรรถนะของผู้เรียนเช่นกัน นายประพัทธ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการอบรมสัมมนาวิชาการ “นวัตกรรมการศึกษาเอกชน เพื่อคนเชียงใหม่” ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2565 มีโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 11 โรงเรียน ร่วมกันนำผลงานจัดนิทรรศการ “เส้นทางสู่นวัตกรรมการศึกษาเอกชนเพื่อคนเชียงใหม่” และมีการเสวนา การบรรยาย และการอภิปรายกลุ่มย่อย ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรม ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียนเอกชน จำนวน 130 คน ครูผู้สอน จำนวน 220 คน รวมทั้งสิ้น 350 คน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน