สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สมาคมนักวิจัยไทยรุ่นใหม่ (Thai Young Scientists Academy, TYSA) และกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียนเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเสริมศักยภาพความเป็นผู้นำแก่บุคลากรวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเปค (Inclusive Science Leadership Program for Early-to Mid-Career Researchers in APEC) ระหว่างวันที่ 21-26 สิงหาคม พ.ศ.2565 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ริม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และบริษัทสโตนเฮ้นจ์ และบริษัทจันวาณิชย์ จำกัด
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภาวะผู้นำและศักยภาพกลุ่มบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเปค ให้มีทักษะและสามารถทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่มาจากต่างศาสตร์สาขา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม โดยในปีนี้ นักวิจัยจำนวน 24 คนจาก 14 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ชิลี,มาเลเซีย,เม็กซิโก,นิวซีแลนด์,ญี่ปุ่น,บรูไน,เปรู,ฟิลิปปินส์,ไต้หวัน,รัสเซีย,เวียดนาม,อินโดนีเซีย,ออสเตรเลีย และไทย ที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการ ได้มีโอกาสศึกษาแนวคิด BCG Economy ผ่านการลงพื้นที่จริง สัมภาษณ์วิสาหกิจชุมชน 4 แห่ง ในพื้นที่ตำบลสะลวง และตำบลขี้เหล็ก จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็นข้อเสนอโครงการขึ้นประกวดแนวทางส่งเสริมความเข้มแข็ง หรือแก้ไขปัญหาของวิสาหกิจชุนนั้นๆ ในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่จะมาถึงนี้
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับการนำทีมกิจกรรมโดย ดร.อรกนก พรรณรักษา,ดร.ศศิธร ศรีสวัสดิ์,ดร.กัมปนาท ซิลวา,ดร.สัญชัย คูบูรณ์ และ ดร.นุวงศ์ ชลคุป ร่วมผลักดันและสร้างเครือข่ายบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเปค ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่บุคลากรของ (สวทช.) และหน่วยงานพันธมิตรร่วมสร้างความแตกต่างและริเริ่มกิจกรรมดีๆ ให้กับประเทศ และประชาคมวิจัยและพัฒนาในเวทีนานาชาติ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน