นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีพ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานระหว่างสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และภาคีเครือข่าย พร้อมด้วย นายณัฐวัฒน์ ธีรทัศน์ธำรงค์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว,นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ (กศน.) และนายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ (กศน.)ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และประชาชน กว่า 1,300 คน ให้การต้อนรับและร่วมพิธีเปิดและลงนามความร่วมมือฯ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 หรือการจัดการศึกษาเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาตนเอง การพัฒนาทักษะอาชีพ และการพัฒนาทักษะฝีมือ ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นให้คนไทยได้รับการพัฒนาการศึกษาทุกช่วงวัย ในทุกสถานที่ ทุกที่ทุกเวลา ทั้งการเรียนในระบบที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“โดย (กศน.) ยังได้ขับเคลื่อนในหลายๆเรื่อง เพราะเป็นหน่วยงานที่เข้าถึงประชาชนทุกช่วงวัย แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมายังมีความยากลำบากและความไม่พร้อม งบประมาณก็มีจำกัด ดิฉันได้พยายามผลักดัน จัดสรรงบประมาณเรื่องของการซ่อมแซมสถานที่ เพื่อให้สามรถเข้าถึงการพัฒนาอาชีพ พัฒนาการศึกษาของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
ซึ่ง (กศน.) ถือเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะเป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สามารถตอบโจทย์คนทุกช่วงวัยเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ที่สำคัญตอบโจทย์การพัฒนาอาชีพ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับพื้นที่ได้ อย่างจังหวัดสระแก้วซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร (กศน.) ได้มาจัดการเรียนการสอน มาสร้างอาชีพให้ ซึ่งต้องยอมรับว่าอาชีพเกษตรกร มีฤดูกาล และมีปัญหาเรื่องความผันผวนของราคาพืชผลทางการเกษตรที่ไม่แน่นอน
วันนี้ (กศน.) ได้ร่วมกับ อบจ.สระแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว โดยฟังเสียงของชุมชนว่าต้องการอะไร จนเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะได้ต่อยอดนวัตกรรม ต่อยอดอาชีพ หาตลาดรองรับ ยังได้สร้างเศรษฐกิจ และรายได้ให้พี่น้องชาวสระแก้วอย่างแท้จริง
นับเป็นโครงการที่ดีและสำคัญที่ทำให้เกิดการมุ่งเน้นอย่างมีเป้าหมาย โดยการที่เริ่มจากที่ตลาดว่ามีความต้องการอะไร จากนั้น (กศน.) และชุมชนจะต้องสำรวจ ว่า พื้นที่ของเราต้องการอะไร ชุมชนมีความสนใจหรือความพร้อมในการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้สอดรับกับตลาดความต้องการหรือไม่ ซึ่งจังหวัดสระแก้วเรามีจุดแข็งในเรื่องปลูกขมิ้นชันที่มีคุณภาพสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ดังนั้นเราจึงจัดโครงการนี้ให้เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งให้กับเกษตรกร ทำให้มีตลาดที่จะสามารถรองรับผลผลิตได้เลย และยังเป็นการยกระดับรายได้และทักษะอาชีพ รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้ผลผลิตของชุมชนมีคุณภาพมากขึ้นด้วย โดยการพัฒนาอาชีพทางด้านพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนภายใต้ แนวคิด “SAKAEO MODEL by กศน.” “การตลาดนำการผลิต”
นางสาวตรีนุชฯ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการนี้ถือเป็นการนำร่อง และ (ศธ.) จะเดินหน้าขยายความร่วมมือในลักษณะนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อที่จะประสานกับผู้ประกอบการกับเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง เพราะถ้าหากเราทราบความต้องการของแต่ละพื้นที่ว่ามีความต้องการในเรื่องไหน เราก็จะสนับสนุนชุมชนให้ผลิตได้อย่างถูกทาง และควบคุมปริมาณได้ ซึ่งในหลายพื้นที่ก็มีศักยภาพมากในเรื่องต่างๆ อีกทั้งตนจะมอบหมายให้นายวัลลพ สงวนนาม เลขาฯ (กศน.) ขยายผลและผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ”
นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ (กศน.) กล่าวว่า “สระแก้ว โมเดล by (กศน.) เป็นต้นแบบของการพัฒนาความรู้ ทักษะอาชีพตามความต้องการของประชาชน โดยใช้ตลาดนำการผลิต ซึ่งจะเป็นแนวทางและส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมาย มีความรู้ สามารถวางแผนการผลิตและความพร้อมของทรัพยากรที่มีให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาดได้อย่างครอบคลุม”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน