(20 ส.ค.65)เมื่อเวลา 11.35 น.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวเรื่องความบกพร่องของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมแสดงใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานต่อสื่อมวลชนว่า มีการใช้วัสดุไม้ก่อสร้างที่ผิดสัญญาอย่างชัดเจน โดยมีการสอดไส้”ไม้กระยาเลย”จำนวนมากถึง
6,139 แผ่น ทั้งที่ในสัญญาต้องใช้”ไม้ตะเคียนทอง” ทำให้ไม่ได้คุณภาพสมกับมูลค่าการก่อสร้างโครงการที่สูงถึง 12,280 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น มีน้ำรั่วซึมและท่วมในบริเวณอาคารขณะฝนตกทุกครั้ง รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
ก็มีปัญหาเช่นกัน จึงต้องถามหามาตรฐานการก่อสร้างของบริษัทผู้รับจ้างว่า มีมาตรฐานหรือไม่ โดยนายวัชระ ได้ตั้งข้อสงสัยและข้อสังเกตว่ามี 4 บริษัทที่เข้าร่วมยื่นซองประกวดราคาคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามซินดิเคทเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) การที่ผู้รับจ้างปิดบังอำพรางว่า ตนมีความเชี่ยวชาญงานระบบประกอบอาคาร เพื่อให้มีสิทธิ์เข้าร่วมประกวดราคาและเมื่อได้งาน จึงไปจ้าง บมจ. เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง มาทำงานระบบให้นั้น เป็นการให้ข้อมูลเท็จต่อราชการในขณะประมูลหรือไม่ และหากบริษัทผู้รับจ้าง มีความสามารถทำงานระบบได้เองจริงๆตามที่ยื่นคุณสมบัติ ก็ตั้งข้อสงสัยได้อีกว่า มีการสมยอมราคากันหรือไม่ ระหว่างผู้เข้าร่วมยื่นซองราคา พอฝ่ายหนึ่งได้งาน ก็แบ่งงานให้อีกฝ่ายหนึ่งไป
นายวัชระ ได้ชี้ปัญหาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต้องรับผิดชอบว่า เป็นเรื่องการขอขยายเวลาการก่อสร้างจาก 900 วันมาจนถึงขณะนี้ล่วงเลยมาถึง 3,361 วันก็ยังสร้างไม่เสร็จ หากคิดเป็นค่าปรับจำนวน 597 วันคูณค่าปรับวันละ 12,280,000 บาท(597 x 12,280,000 = 7,331,160,000) ซึ่งมีข่าวว่า จะมีการยกเว้นปรับเงินอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนด้วย นายวัชระยังได้กล่าวขอบคุณสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่แถลงยอมรับข้อเท็จจริงต่างๆที่เป็นปัญหาทั้งหมดด้วย
สำหรับปัญหาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีการร้องเรียนต่อป.ป.ช.ให้สอบสวนแล้วถึง 20 เรื่องโดยนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และคาดว่าจะมีการร้องเรียนเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ เพราะยังพบจุดบกพร่องต่างๆของการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานอีกจำนวนมาก