วันที่ 18 สิงหาคม 2565 พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือบริการวิชาการ “พุทธศาสตร์เข้าใจอย่างเข้าถึง” รุ่นที่ 5 เรื่อง อนาคตภาพการบริหารศูนย์วิจัยพุทธศาสตร์ในไทย วิชาการพุทธศาสตร์ไทยก้าวไกลสู่เวทีนานาชาติ ดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือจาก 3 สถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนา คือ 1) สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2) สถาบันวิจัยญาณสังวร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และ 3) ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา DCI โดยเสวนาทางออนไลน์ผ่าน ZOOM ตั้งแต่วันที่ 22 , 29 กรกฎาคม และ 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
โครงการความร่วมมือบริการวิชาการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอภาพรวมของศูนย์วิจัยพุทธศาสตร์ในระดับเอเชียที่ผ่านการศึกษาด้วยเทคนิคการวิจัยเชิงอนาคตภาพ (Ethnographic Delphi Futures Research: EDFR) และนำประเด็นที่ได้จากการศึกษามาเป็นหัวข้อในการเสวนาผ่าน 2 ประเด็นหลัก คือ การสร้างนักวิจัยพุทธศาสตร์ และการบริหารศูนย์วิจัยพุทธศาสตร์ในมุมมองของคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวิทยาลัยฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร รวมถึงผู้บริหารสถาบัน/ศูนย์วิจัยพุทธศาสตร์ จำนวนรวม 9 รูป/คน มีรายนามดังนี้ 1. พระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ, ดร. ผู้อำนวยการศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา DCI อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา 3. พระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย, ผศ.ดร. รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยญาณสังวร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประทุม อังกูรโรหิต ผู้อำนวยการศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5. รองศาสตราจารย์ ดร.อำพล บุดดาสาร ประธานสาขาพระพุทธศาสนา วิทยาฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร 6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บารมี อริยะเลิศเมตตา หัวหน้าภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 8.อาจารย์ ดร.บรรเจิด ชวลิตเรืองฤทธิ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยพระไตรปิฎก ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา DCI 9. อาจารย์ ดร.อัชวัน หงิมรักษา เจ้าของงานดุษฎีนิพนธ์ “อนาคตภาพการบริหารศูนย์วิจัยพุทธศาสตร์ในเอเชีย”
ภาพรวมของการเสวนาที่ว่าด้วยเรื่องอนาคตภาพของการบริหารศูนย์วิจัยพุทธศาสตร์ในไทย ได้ข้อสรุปที่ตรงกันผู้ร่วมเสวนา คือ งานวิจัยพุทธศาสตร์ไทยจะก้าวไกล ส่วนหนึ่งต้องเกิดจากการสร้างเครือข่ายนักวิชาการและสถาบันที่ทำงานวิจัยทางด้านพุทธศาสตร์ เนื่องจากองค์ความรู้ต่าง ๆ นั้นมีหลายแขนง สามารถนำมาประยุกต์ บูรณาการเพื่อใช้ในการวิจัยพระพุทธศาสนาได้ ไม่ว่าจะเป็นเชิงวิชาการ (Scholar Buddhism) เชิงปฏิบัติ (Practical Buddhism) และงานเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) งานเหล่านี้สามารถที่จะผสานศาสตร์ต่าง ๆ มาเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาได้ ซึ่งนักวิจัยที่ทำงานเฉพาะด้านในแต่ละศาสตร์ก็มีอยู่อยู่จำนวนมากและสังกัดอยู่ในหน่วยงานมหาวิทยาลัยรวมถึงหน่วยงานภายนอกด้วย ดังนั้น การสร้างเครือข่ายนักวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทั้งในระดับบุคคล คือ การทำวิจัยร่วมกัน จนไปถึงการสร้างเครือข่ายระดับความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้ทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านบุคลากร ได้ช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการวิจัยในรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับบุคลากรผ่านความร่วมมือ รวมถึงได้เผยแพร่องค์ความรู้เฉพาะทางผ่านการนำเสนอบนเวทีวิชาการและวารสารวิชาการต่าง ๆ ซึ่งเครือข่ายนี้เองจะช่วยสร้างและส่งเสริมให้นักวิจัยพุทธศาสตร์ในไทยได้แสดงศักยภาพ ได้สร้างสัมพันธไมตรี และสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทยให้อารยประเทศได้เห็นว่า อนาคตภาพของการเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาต้องเริ่มจากมิตรภาพระหว่างองค์กรด้วยเครือข่ายความร่วมมือ.