การสร้างระบบอุตสาหกรรมเกษตรที่ทันสมัย “๗ + ๓” ของจีน (“7+3”现代农业产业体系)
แนวคิดในการสร้างระบบอุตสาหกรรมเกษตรที่ทันสมัย “๗ + ๓” ของจีน (“7+3”现代农业产业体系) เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรของประเทศ
โดยนัยสำคัญของ “๗” หมายถึง อุตสาหกรรมลักษณะเฉพาะ ๗ ประเภท ได้แก่ ธัญพืช ผลไม้ ผัก ปศุสัตว์ ดอกไม้ หม่อน และยาสูบ
ส่วนนัยสำคัญของ “๓” หมายถึงอุตสาหกรรมสนับสนุนสามประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตรที่ทันสมัย อุตสาหกรรมอุปกรณ์การเกษตรที่ทันสมัย และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทางการเกษตรที่ทันสมัย
สำหรับการขับเคลื่อนแนวคิดในการสร้างระบบอุตสาหกรรมเกษตรที่ทันสมัย ได้แก่
๑. การสร้างฐานอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน สำหรับการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพสูง และส่งเสริมการสร้างฐานสาธิตการเกษตรที่ทันสมัย
๒. เสริมสร้างการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยส่งเสริมการพัฒนาการแปรรูปขั้นต้นและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างละเอียดและเชิงลึกพร้อมๆ กัน รวมทั้งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการแปรรูปขั้นต้นและการค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในบริเวณใกล้เคียงกับฐานอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม
๓. ส่งเสริมแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและเครื่องหมายการค้า รวมทั้งการตลาด อาทิ การรับรองสินค้าเกษตรปลอดมลพิษ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีลักษณะเฉพาะเช่น ผลิตภัณฑ์มีความสำคัญเชิงวัฒนธรรม ฯลฯ รวมถึงกระบวนการทางอุตสาหกรรมของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีลักษณะเฉพาะ
๔. ปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตร ด้วยเป้าหมายของการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัย รวมทั้งปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตทางการเกษตร
๕. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนทั้งสามประเภท ( อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตรที่ทันสมัย อุตสาหกรรมอุปกรณ์การเกษตรที่ทันสมัย และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทางการเกษตรที่ทันสมัย) เช่น อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตร โดยดำเนินการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ในท้องถิ่นและการคัดเลือก เป็นต้น
๖. ส่งเสริมการพัฒนาสีเขียว เช่น การรีไซเคิลขยะและการทำให้เป็นระบบนิเวศของรูปแบบอุตสาหกรรม ฯลฯ
๗. เพิ่มความพยายามในการพัฒนาตลาด โดยเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับภูมิภาคที่ก้าวหน้า ทั้งในประเทศ ต่างประเทศและภูมิภาค ตามข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (一带一路 / Belt and Road Initiative : BRI) ในการลงทุนและการจัดหาเงินทุนทางการเกษตรการค้าสินค้าเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตร ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ
๘. ส่งเสริมการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมและหมู่บ้าน ในการสร้างหมู่บ้านที่สวยงามและน่าอยู่ โดยการผสมผสานข้ามพรมแดนของการเกษตร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ที่มีลักษณะเฉพาะในชนบท
๙. ส่งเสริมการบูรณาการ “การดูแลสุขภาพ + การเกษตร” อย่างลึกซึ้ง โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
๑๐. เสริมสร้างการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงของความสำเร็จด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการเกษตร
ตัวอย่างความสำเร็จของการสร้างระบบใหม่ของอุตสาหกรรมการเกษตรที่ทันสมัยในมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยได้ส่งเสริมการปฏิวัติอุตสาหกรรมในชนบท ด้วยการผสมผสานระหว่างการเกษตร การแปรรูปการผลิตและอุตสาหกรรมการบริการในทุกส่วนของมณฑล จนประสบความสำเร็จในการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากการอาศัยทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ในท้องถิ่น มีการสร้างหมู่บ้านที่สวยงามและการพัฒนาการท่องเที่ยวในชนบท โดยเฉพาะการบูรณาการในเชิงลึกทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยวบนภูเขา ฯลฯ อันเป็นการฉีดพลังขับเคลื่อนใหม่ในการฟื้นฟูชนบทและวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ของความทันสมัยในชนบท
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
(ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.panzhihua.gov.cn/tzfw/cyjc/ny/1605837.shtml และเว็บไซต์ https://www.sohu.com/a/389217520_99986045 รวมทั้งเว็บไซต์ http://www.guizhou.gov.cn/xwdt/gzyw/202008/t20200810_62324531.html และเว็บไซต์ http://www.tobaccochina.com/nongye/20205/20205983414_802985.shtml ตลอดจนเว็บไซต์ http://www.scznfutong.com/Topics/spotlight/310.html )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
14/8/2022