คมนาคม เตรียมชง คสช. ต่ออายุรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี อีก 1 ปีครึ่ง เพื่อรอจนกว่าจัดทำ
ระบบการให้บริการอี-ทิคเก็ต หรือตั๋วร่วม ให้เสร็จสิ้น
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการเสนอ
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พิจารณาขยายมาตรการรถเมล์-รถไฟฟรี ต่อเนื่องไปจนถึง
ปลายปี 2558 ว่า ตามที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ได้เสนอผลศึกษา
ความเหมาะสมในการดำเนินงานการสนับสนุนมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน รถเมล์-รถไฟฟรี
มาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อรอจนกว่าจัดทำระบบการให้บริการอี-ทิคเก็ต หรือตั๋วร่วม ให้แล้วเสร็จ
ซึ่งคาดอาจต้องใช้ระยะเวลาในการจัดทำระบบการให้บริการอี-ทิคเก็ตอีก 1 ปีครึ่งนั้น
เบื้องต้นกระทรวงคมนาคม ได้เตรียมเสนอให้ คสช. พิจารณาการต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรีออกไปจนกว่า
จะดำเนินการจัดทำระบบการให้บริการอี-ทิคเก็ต เสร็จสิ้น
นายธีระพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาอนุมัติต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรี คาดว่า จะใช้วิธีการเสนอ
ขออายุเป็นครั้ง ๆ ไป โดยในครั้งต่อไปจะเสนอขอต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรี ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้
ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่มาตรการเดิมจะหมดอายุในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 พร้อมกันนี้ กระทรวงคมนาคม
จะยังนำผลการศึกษาเรื่องมาตรการดูแลค่าครองชีพประชาชนมาเสนอให้ คสช. พิจารณามาตรการ
ที่เหมาะสม 2 แนวทาง คือ
1. ให้ยกเลิกมาตรการลดค่าครองชีพเดิมทั้งหมด ทั้งรถเมล์ฟรีและรถไฟฟรี
2. ใช้มาตรการเดิมแบบมีเงื่อนไขโดยให้ใช้ฟรีเฉพาะกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ และพระภิกษุ
ส่วนนักเรียน นิสิตและนักศึกษาให้ส่วนลด 50%
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ขสมก. ได้จัดรถวิ่งให้บริการฟรี จำนวน 800 คัน ครอบคลุมเพียง 85 เส้นทาง
จากเส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมด 221 เส้นทาง แบ่งเป็นรถ ขสมก. จำนวน 116 เส้นทาง
รถร่วมเอกชน จำนวน 105 เส้นทาง ขณะที่รถไฟฟรีจัดให้บริการครอบคลุมทุกเส้นทาง รวมเป็น
172 ขบวนต่อวัน ประกอบด้วยขบวนรถไฟเชิงสังคม 164 ขบวน และขบวนรถเชิงพาณิชย์ (รถเร็ว)
รถไฟฟรีชั้น 3 จำนวน 8 ขบวน
สำหรับผลดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพ รัฐบาลได้ดำเนินขยายเวลามาแล้ว 12 ครั้ง เริ่มตั้งแต่
วันที่ 1 สิงหาคม 2551-30 กันยายน 2556 พบว่า มีผู้ได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 897.05 ล้านคน
แบ่งออกเป็น ขสมก. 722 ล้านคน และ ร.ฟ.ท. 175.05 ล้านคน และมีค่าใช้จ่ายสิ้นสุดระยะที่ 13
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2557 รวมทั้งสิ้น 21,189.45 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ขสมก. 15,533.84 ล้านบาท
และ ร.ฟ.ท. 5,655.61 ล้านบาท