วันที่ 7 สิงหาคม 2565 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ : นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเสวนาในหัวข้อ “อาหารดี อร่อย จากดอยโครงการหลวง” ร่วมกับ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ หรือ อาจารย์ขาบ อาสาสมัครมูลนิธิโครงการหลวง โดยมี ดร.รุ่งทิพย์ โชติณภาลัย สื่อมวลชนอิสระและอาจารย์พิเศษ และคุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการชีวิตชีวา ช่อง 33 เป็นผู้ดำเนินรายการ
สำหรับกิจกรรมเสวนาในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานกิจกรรมโครงการหลวง 53 ภายใต้คอนเซปต์ “The infinite blooms ร่วมแรงร่วมใจ ให้งอกงาม อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-14 สิงหาคม 2565 ณ พื้นที่กิจกรรมชั้น 1 และโซน Eden ชั้น 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนีพันปีหลวง ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ ล้วนเป็นโครงการที่พัฒนาคนและสร้างคุณภาพชีวิตทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) สอดคล้องกับวาระแห่งชาติเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ประกอบกับการเข้าใจภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ จนกระทั่งสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Life Time Achievement Award) เป็นรางวัลเกียรติยศด้านการพัฒนาของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติและสิ่งที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มและทรงงานมาตลอดพระชนม์ชีพซึ่งในปัจจุบันองค์ความรู้ดังกล่าวนำมาสู่แนวคิดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ของสหประชาชาติทั้ง 17 ข้อในปัจจุบัน
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ ที่ได้ทรงทำไว้ โครงการหลวง 53 แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของโครงการหลวง ยกตัวอย่าง เช่น ในอดีตพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บนดอยทางภาคเหนืออยู่ใกล้สิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงชาติ หรือเรียกว่าพื้นที่มีความเสี่ยงสูง และมีวิถีชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อโลก เช่น การปลูกฝิ่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งโครงการหลวงสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนบนดอยเหล่านี้ได้ ดูเหมือนไม่สามารถช่วยคนได้เยอะ แต่จริงๆ แล้วช่วยคนได้ทั้งโลก เพราะหันมาปลูกพืชเป็นหลักเป็นแหล่ง มีการพัฒนาพื้นที่ เลิกการทำไร่เลื่อนลอย และไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด อีกทั้งยังแก้ไขปัญหาความอดอยาก สร้างความมั่นคงทางอาหารทำให้ไม่เกิดการลักขโมยในพื้นที่ได้อีกด้วย
“เป็นเรื่องที่น่าละอายใจที่ต่างประเทศโดยองค์การสหประชาชาติยกย่องว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวใจของ BCG Model เราในฐานะคนไทยจึงจำเป็นจะต้องเริ่มตระหนักว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการน้อมนำแนวทางพระราชดำริไปอยู่ในใจของพี่น้องประชาชนไทยทุกคน ทุกภูมิภาค นำไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นกิจวัตรประจำวัน ผมคิดว่าจะต้องเริ่มจากตัวเองก่อน แล้วไปกระตุ้นให้คนในสังคม ชุมชน ช่วยกันทำ เช่น ในเรื่องของกลไกการตลาดที่ดี เรื่องการบริโภค หากคนไทยมีการรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย เป็นเครื่องนุ่งห่ม เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของการใช้ชีวิต ผ้าไทยเกิดจากคนไทยทุกกระบวนการไม่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตจากต่างประเทศ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทย ลองจินตนาการว่าผู้ผลิตผ้าไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย หรือวัยกลางคน หากมีการผลิตมาแล้วไม่มีคนสวมใส่ ผู้ผลิตก็ไม่มีทุน ไปต่อยอดธุรกิจ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว
แต่หากเราในฐานะผู้บริโภค ช่วยกันซื้อ ช่วยกันอุดหนุน รายได้ก็จะถูกนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาอาชีพเกิดการรวมกลุ่ม เด็กที่เป็นลูกหลานของผู้ประกอบอาชีพ หัตถศิลป์ หัตถกรรม หรืออาชีพอื่นๆ เพื่อชุมชนสังคม ก็จะเห็นคุณค่าของสิ่งที่บรรพบุรุษทำและจะเป็นคนสืบสานให้สิ่งเหล่านี้อยู่คู่สังคมไทย” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
ด้าน นายสุทธิพงษ์ฯ หรืออาจารย์ขาบ กล่าวว่า ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต หรือ Living Museum มีแนวคิดสอดคล้องกับแนวคิดของกับท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยคือ “ต้องเริ่มจากตัวเอง” องค์ความรู้ที่ได้จากการเป็นอาสาสมัครโครงการหลวง 22 ปีที่ผ่านมาได้ทั้งเรื่องการสื่อสารการส่งเสริมการตลาดและการทำการเกษตร การทำหัตถกรรม สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเห็นว่ามีคุณค่า และควรขยายผลให้เกิดเป็นรูปธรรมในชุมชน นำไปสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ซึ่งจะต้อง เก๋ และมีรสนิยม พิพิธภัณฑ์มีชีวิตจึงเป็นต้นแบบของหลักการดังกล่าว มีลักษณะเป็นกึ่งบ้าน กึ่งพิพิธภัณฑ์
“ผมอาศัยอยู่ใต้ถุนบ้าน มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวบ้านผม ซึ่งเขาก็อยากมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของบ้าน ลองคิดว่าหากทำทั้งชุมชนแต่ละบ้านก็มีตำนานของบ้านตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การขยายการท่องเที่ยวชุมชนให้ยั่งยืนได้” อาจารย์ขาบกล่าว
ด้านปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวประชาชนเอง อันสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อทำนุบำรุงให้ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีความมั่นคง ทั้งนี้ ประเทศชาติหรือพื้นที่จะมั่นคง “คนต้องมีความสุข” ซึ่งแน่นอนว่าคนจะมีความสุขได้ ทุกบ้าน ทุกสังคม ต้องมีหัวหน้าครอบครัว เช่นกัน “จังหวัดก็ต้องมีผู้นำ” คือท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัด “อำเภอก็ต้องมีผู้นำ” คือท่านนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ที่เป็นโซ่ข้อกลางระหว่างพื้นที่และส่วนกลาง สิ่งที่ดีทุกเรื่องจะเกิดการ Change for Good ขึ้นได้ ผู้นำต้องมีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformative Leadership) โดยความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาคน สร้างทีมจากทุกตำบล / หมู่บ้าน และชุมชนที่เข้มแข็ง และเดินหน้าพัฒนาอย่างทั่วถึง เชิญชวนผู้ที่มีความพร้อมและมีจิตเสียสละ มาร่วมกันทำ ช่วยกันสนับสนุน คนละเล็ก ละน้อย และถ่ายทอด DNA ของการ Change for Good ขยายผลไปสู่คนอื่น สร้างคนให้มี DNA ของคนที่มี Passion ที่เหมือนกัน
“ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้พระราชทานกำเนิด ‘โครงการหลวง’ และทฤษฎีใหม่ รวมถึงโครงการพระราชดำริต่างๆ มากกว่า 4,000 โครงการ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทย ช่วยเหลือเกษตรกรพี่น้องคนไทย ที่ทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยสวมใส่ผ้าไทย เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน” ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว
สำหรับการจัดกิจกรรมโครงการหลวง 53 ในปีนี้ ได้คัดสรรสินค้าที่อัดแน่นด้วยคุณภาพจากโครงการหลวง และโครงการส่วนพระองค์กว่า 1,000 รายการ อาทิ งานหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผ้าทอฝ้าย 5 สี ไอศกรีมอะโวคาโด กาแฟโครงการหลวง ผัก ผลไม้สด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโครงการหลวง และอาหารคาว หวานอีกมากมายภายในงาน เช่น สลัดผักปลาเทราต์ทอด ซี่โครงหมูซอสเสวรส แกงฮังเลเสิร์ฟพร้อมหมั่นโถวธัญพืช ฯลฯ
พร้อมเปิดตัวสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษที่จะเปิดตัวครั้งแรกในปีนี้หลากหลายรายการ พร้อมรับชมนิทรรศการ Royal Project Innovation ชมพันธ์ไม้ดอกใหม่ ครั้งแรกในประเทศไทย กับ “เอเดลไวส์” ดอกไม้สื่อรักจากเทือกเขาแอลป์ และบรรยากาศการตกแต่งงานแบบ Royal Project the Infinite Blooms ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ โดยวันนี้ได้มี ตัวแทนนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.) รุ่นที่ 12 สถาบันพระปกเกล้า และประชาชนมาร่วมในกิจกรรม พร้อมอุดหนุนสินค้ากันอย่างคับคั่ง
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน