ทราบข่าวจากทวิตเตอร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าจะงดจัดงานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 ในฐานะศิษย์เก่า ใจหนึ่งก็เห็นด้วย อีกใจก็เสียดาย โอกาสที่ศิษย์ของทั้งสองสถาบันจะได้มาแสดงพลังแห่งความอาลัยรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เป็นครั้งสุดท้ายให้ยิ่งใหญ่พร้อมเพรียงกัน
ทั้งการแปรอักษร ขบวนล้อการเมือง ที่ควรจะเปลี่ยนเป็นการเชิดชูผลงานจากโครงการในพระราชดำริของท่านกว่า 4,000 โครงการ หรือพระอัจฉริยะภาพด้านอื่นๆ และที่สำคัญคือการร่วมร้องเพลงประจำของทั้งสองสถาบันก่อนการแข่งขัน ซึ่งเป็นเพลงที่ท่านได้พระราชนิพนธ์ทำนองไว้ให้
ทั้ง “ยูงทอง” และ “มหาจุฬาลงกรณ์” ซึ่งร้องทุกปีตามปกติก็ประทับใจอยู่แล้ว แต่หากเป็นโอกาสส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยแบบนี้ จะยิ่งซาบซึ้งใจไปตลอดกาล
ถ้าเลื่อนเวลาไปได้สักหน่อย แต่ไม่ต้องถึงกับยกเลิก เป็นสักเดือนมีนาคมก็น่าจะดี
พูดถึงเพลงที่ท่านทรงพระราชนิพนธ์ไว้ให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ ขอหยิบยกบางช่วงบางตอนที่ท่านได้เคยรับสั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในอดีต ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ “พระราชอารมณ์ขัน” ของคุณวิลาศ มณีวัต มาฝากกันสักหน่อย
“สำหรับเรื่องสุดท้ายที่ขอเพลงสำหรับประจำวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นความดำริที่ดี … แต่ว่าสำหรับเรื่องเพลงนี้ลำบาก
พูดอยู่เสมอว่า ใครขอเพลงสำหรับสถาบันก็อยากจะให้ แต่บางทีไม่มีเวลาที่จะทำ หรือบางทีก็ไม่เกิดความคิดที่จะทำ
คราวนี้ ความยุ่งยากอยู่ที่ว่าต้องเข้าคิวกันอย่างที่ได้แล้วก็มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ธรรมศาสตร์ แล้วก็เกษตรศาสตร์ ระหว่างเวลาที่สองเพลงต่อกันนั้นน่ะเป็นเวลาตั้งหลายปี ตอนนี้เข้าคิวกันแล้ว ศิลปากรก็ขอ ที่อื่นก็เคยขอ
อยากจะทำพิธีอย่างที่เคยทำเมื่อครั้งเพลงประจำหน่วยนาวิกโยธิน คือจับสลากเลย… ถ้าทำอย่างนั้นอย่าน้อยใจ เพราะว่าเข้าคิวกันแยะ”
อ่านแล้วก็ให้รู้ว่า โอกาสที่ท่านจะประพันธ์เพลงให้สถาบันไหนไม่ใช่เรื่องง่าย สถาบันไหนที่ได้รับพระราชทานถือว่าโชคดีเป็นล้นพ้น บรรดาศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันพึงระลึกถึงคุณค่าและความสำคัญตลอดไป
สุดท้ายแล้ว ขอเรียนตามตรงว่าข้อเขียนชิ้นนี้สั้นนิดเดียวแต่เขียนยากที่สุดเท่าที่เคยเขียน เพราะเขียนไปร้องไห้ไป ขอลงท้ายด้วยการร่วมแสดงความอาลัย และระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่เคยทำเพื่อคนไทยมาตลอดระยะเวลา 70 ปี.