ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจากทีมแพทย์จุฬาฯ หนึ่งในนวัตกรรมที่นำมาแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เป็นงานแสดงผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่าผลงานที่นำมาแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ล้วนแล้วแต่สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ภายใต้สโลแกน วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยร่วมกับหลายองค์กรในการบูรณาการ คิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ รวมถึงงานวิจัยเยียวยาสะท้อนปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
นวัตกรรมด้านสุขภาพก็ถือเป็นอีกหัวข้อที่สำคัญ เพื่อพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชนชน ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็ถือว่าเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพอย่างหนึ่ง ในแต่ละปีทั้งรัฐและผู้ป่วยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายกับโรคนี้เป็นจำนวนมาก
ในปัจจุบันด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคและอาหารที่รับประทานเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ หนึ่งในนั้นก็คือโรคไตเรื้อรังที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทีมแพทย์และทีมวิจัย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันคิดค้นชุดตรวจ albuminuria เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่มีภาวะโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้น ก่อนจะทวีความรุนแรงเป็นภาวะโรคไตเรื้อรัง
รศ.ดร.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย และ รศ.ดร.กิตตินันท์ โกมลภิส จากสถานบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมชุดตรวจ albuminuria เพื่อใช้ในการตรวจ คัดกรองผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้น โดยใช้หลักการตรวจหาโปรตีนไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ (Micro albuminuria) ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้โรคไตเรื้อรังได้ชัดเจนที่สุด ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรัง เช่น ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังอาทิ โรคเบาหวาน ความดัน หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถใช้งานชุดตรวจและอ่านผลได้เองที่บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางมาเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล ชุดตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังที่พัฒนาขึ้นนี้มีหลักการทำงานคล้ายการตรวจตั้งครรภ์ และการตรวจ ATK ขั้นตอนการใช้งานชุดตรวจสามารถทำได้ง่าย เพียงเก็บปัสสาวะในช่วงเช้าหลังตื่นนอนหรือก่อนทานอาหารเช้า จากนั้นนำมาหยดลงบนแผ่นชุดตรวจ 3 หยด และรอผลเพียง 15 นาที หากมีค่าไมโครอัลบูมินผิดปกติจะมีแถบขึ้น 1 แถบ แต่หากมีค่าไมโครอัลบูมิน (Microalbumin) อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะมีแถบขึ้น 2 แถบ โดยแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองปีละครั้ง แม้จะยังไม่มีอาการ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารที่มีรสเค็ม
ชุดตรวจคัดกรองที่พัฒนาขึ้นนี้ มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง สามาถใช้งานสะดวก อ่านผลได้รวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงทีก่อนจะมีอาการที่รุนแรงถึงขั้นที่ต้องฟอกไต ทำให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตได้
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาทีมวิจัยได้มีโครงการนำร่องเพื่อนำชุดตรวจคัดกรองไปทดลองใช้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยทีมวิจัยคาดหวังว่าจะได้มีโอกาสนำชุดตรวจนี้ไปใช้อย่างกว้างขวาง และนำเข้าไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไปในอนาคต เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนให้ถอยห่างจากภาวะโรคไตเรื้อรังขั้นรุนแรง ซึ่งขณะนี้ชุดตรวจคัดกรองอยู่ระหว่างการอนุมัติขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน