14 พ.ย. นี้ ! สดร. ชวนจับตาดู ‘Super Full Moon วันลอยกระทง’ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี พร้อมเชิญชวนชาวไทยจุดเทียนแสดงความอาลัยใต้แสงจันทร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 14 พฤศจิกายนนี้ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี ที่ระยะห่างประมาณ 356,511 กิโลเมตร ตรงวันลอยกระทงพอดี จัดสังเกตการณ์ 3 จุดหลัก เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา พร้อมเครือข่ายดาราศาสตร์กว่า 160 แห่งทั่วประเทศ ตั้งกล้องโทรทรรศน์ส่องจันทร์โตเต็มดวงคืนวันลอยกระทงให้ชมแบบเต็มตา เชียงใหม่!!! จัดยิ่งใหญ่เชิญชวนประชาชนจุดเทียนแสดงความอาลัยใต้แสงจันทร์ ถวายแด่พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ลานกิจกรรมหน้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีนี้ ที่ระยะห่างประมาณ 356,511 กิโลเมตร และยังเป็นการโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2491 ที่ระยะห่างประมาณ 356,462 กิโลเมตร เราจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าขณะอยู่ไกลโลกมากที่สุดประมาณ 14% และมีความสว่างมากกว่าประมาณ 30% หรือเรียกว่า “ซูปเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon)” ในวันที่ 14 พฤศจิกายนจะสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ตก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:00 น. เป็นต้นไป วันดังกล่าวยังตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันลอยกระทงของไทยอีกด้วย ผู้สนใจสามารถเฝ้ารอชมและเก็บภาพความสวยงามของดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปีในคืนวันลอยกระทงกันได้ทั่วประเทศ
ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 สดร. จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี “ซูปเปอร์ฟูลมูนวันลอยกระทง” 3 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา พร้อมหน่วยงานดาราศาสตร์เครือข่ายอีกกว่า 160 แห่งทั่วประเทศ เชิญชวนประชาชนร่วมส่องจันทร์ดวงโตและวัตถุท้องฟ้าชัดเต็มตาด้วยกล้องโทรทรรศน์หลายรูปแบบ ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. ได้แก่
เชียงใหม่ – ลานกิจกรรมหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่
** ขอเชิญชวนพสกนิกรชาวเชียงใหม่จุดเทียนแสดงความอาลัยใต้แสงจันทร์ ถวายแด่พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ เวลา 19.09 น. **
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 081-8854353
นครราชสีมา – หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 044-216254
ฉะเชิงเทรา – หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 084-0882264
ทั้งนี้ ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วดวงจันทร์มีลักษณะวงโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี โดย 1 รอบใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้นในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 356,400 กิโลเมตรและตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และแม้ว่าดวงจันทร์จะมีตำแหน่งโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่ดวงจันทร์ไม่ได้ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง ดวงจันทร์เต็มดวงจะอยู่ตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดประมาณทุกๆ 13 เดือน สำหรับปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุด ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 2 มกราคม 2561 ที่ระยะห่างประมาณ 356,565 กิโลเมตร
อธิบายภาพ :
(01) ภาพเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี (ซ้าย) กับ ดวงจันทร์เต็มดวงปกติ (ขวา)
(02) ภาพแสดงตำแหน่งดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด (Perigee) และ ตำแหน่งดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด (Apogee)
(03) ภาพเปรียบเทียบขนาดปรากฏและความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง ขณะอยู่ใกล้โลกมากที่สุด (ซ้าย) กับ ไกลโลกมากที่สุด (ขวา) ดวงจันทร์เต็มดวงขณะอยู่ใกล้โลกมากที่สุดจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าขณะอยู่ไกลโลกมากที่สุด ประมาณ 14% และมีความสว่างมากกว่าประมาณ 30%