7 พ.ย.59 ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย แก้วกิติชัย นายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 68 ปี และเป็นหน่วยงานหลักในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FAPA 2016 (The 26th Federation of Asian Pharmaceutical Associations Congress ) การประชุมสหพันธ์เภสัชกรรมสมาคมแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นการจัดการประชุมระดับนานาชาติที่มีเภสัชกรจากทั่วภูมิภาคเอเชียกว่า 20 ประเทศ จำนวนกว่า 1,500 คน เข้าร่วมงาน
สำหรับปีนี้จะมีการประชุมขึ้นในวันที่ 9-13 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 นับเป็นประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FAPA บ่อยครั้งที่สุดในโลก นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี จะเสด็จฯเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม FAPA 2016 และทรงบรรยายพิเศษพระราชทานแก่เภสัชกรผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วทวีปเอเชียด้วย
ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย กล่าวอีกว่า สำหรับหัวข้อการประชุมในครั้งนี้คือ “Integrating Asian Pharmacy Wisdom for Better Global Health” หรือ “บูรณาการภูมิปัญญาเภสัชกรรมแห่งเอเชีย เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าในสากล” เป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่เภสัชกรไทยจะได้แสดงศักยภาพด้านองค์ความรู้สมุนไพร ภูมิปัญญาดั้งเดิมคู่ชาติไทย สนองแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ด้าน ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยด้านการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะโรงพยาบาลต้นแบบด้านสมุนไพร ซึ่งจะมาร่วมจัดนิทรรศการในงานนี้ด้วย กล่าวว่า เภสัชกรในประเทศไทยมีบทบาทด้านการพัฒนายาจากสมุนไพรให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและปลอดภัย ในระบบสาธารณสุขของประเทศมานาน จนทุกวันนี้เป็นเวลามากกว่า 30 ปีที่เราได้ผลิตยาจากสมุนไพรมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน เช่น ยาขมิ้นชัน ยาฟ้าทะลายโจร ยาฆ่าเชื้อจากเปลือกมังคุด ยาครีมพญายอ เป็นต้น เพื่อลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน โดยเฉพาะยาในกลุ่มโรคที่ไม่ซับซ้อน นับเป็นการพึ่งพาตนเองของประเทศไทย
อีกทั้งปัจจุบันทางสภาเภสัชกรรมกำลังดำเนินการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นด้านสมุนไพรให้แก่เภสัชกร ที่ครอบคลุมบริบทที่หลากหลาย ตั้งแต่การผลิต การบริบาลเภสัชกรรม เภสัชกรรมปฐมภูมิ เภสัชกรรมชุมชน และการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เภสัชกรมีความรู้ที่กว้างขวาง เท่าทันสถานการณ์ เนื่องจากได้เล็งเห็นแล้วว่าภูมิปัญญาสมุนไพร เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติที่ควรจะต้องมีการนำมาใช้เพื่อการดูแลสุขภาพ สมดังพระราชปณิธานเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการค้นหาภูมิปัญญาสมุนไพรของคนไทย นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อให้คนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม อันเป็นการพึ่งตนเองระดับประเทศ
นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้มีการพึ่งตนเองระดับประชาชน โดยเภสัชกรจะให้ความรู้คนไทยในการนำสมุนไพรมาใช้เพื่อการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง สอนให้ประชาชนทำตำรับยาง่ายๆ ซึ่งเป็นการสร้างความรู้และภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นฐานรากของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับประชาชนคนไทย ความรู้และประสบการณ์เหล่านี้ เราจะนำมาจัดแสดงนิทรรศการในงาน เพื่อให้เภสัชกรในประเทศอื่นๆที่มาร่วมงานได้เรียนรู้ด้วย
ส่วน รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ประธานคณะทำงานจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นด้านสมุนไพรและการเตรียมความพร้อมระบบการฝึกอบรมแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพด้านเภสัชกรสมุนไพร สภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ทางสภาเภสัชกรรมกำลังดำเนินการพัฒนาหลักสูตรด้านสมุนไพร และพร้อมจะเปิดอบรมรุ่นแรกในเดือนมกราคม 2560 โดยหลักสูตรจะมีความหลากหลายทั้งการผลิต การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสมุนไพร การใช้ยาจากสมุนไพรที่เหมาะสม นอกจากนั้นแล้วในบางมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งกำลังจะเปิดหลักสูตรปริญญาตรีด้านเภสัชกรสมุนไพร ซึ่งในอนาคตก็มีแผนการจะขยายการอบรมให้กับเภสัชกรในประเทศอื่นๆที่มีความสนใจด้วย
‘นับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยเราจะได้อวดของดีที่เรามีภูมิปัญญา และศักยภาพของวิชาชีพเภสัชกรรมสู่สายตาชาวโลก ขอเชิญชวนเภสัชกรไทย และคนไทยทุกคน ร่วมมือกันเป็นเจ้าภาพที่ดี ต้อนรับเภสัชกรกว่า 1,500 คนจากหลากหลายประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปลุกพลังเภสัชกรไทยเป็นหนึ่งเดียวเพื่อคนไทยทุกคน ในงาน FAPA 2016 ครั้งที่ 26 เพื่อการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมไทย และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับวิชาชีพเภสัชกรรมไทยและประเทศไทยของเรา’ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าว