เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00 น.: นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปิดโครงการจัดการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยสำหรับบุคคลออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดประสบการณ์ครูผู้สอนคนพิการและผู้ปกครองในการใช้หลักสูตรสำหรับบุคคลออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ บางพลัด กรุงเทพฯ โดยมี นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) กล่าวรายงานพร้อมสรุปผลการจัดงาน และมี นายปราโมทย์ ธรรมสโรช อุปนายกสมาคมผู้ปกครองออทิซึม (ไทย) นายธเนตร หลงศรี รองผอ.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ดร.สมพร หวานเสร็จ อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการให้คำปรึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อดีตผอ.เชี่ยวชาญ) นายไพรัตน์ เนื่องเกตุ ผอ.กศน.อำเภอเมืองชลบุรี นายสมบูรณ์ เหล่าวงศ์วัฒนา ผอ.กศน.อำเภอเมืองปราจีนบุรี ครู เจ้าหน้าที่ บุคลากร และผู้ปกครอง ร่วมให้การต้อนรับ
นางกนกวรรณฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดประสบการณ์ครูผู้สอนคนพิการ และผู้ปกครองในการใช้หลักสูตรสำหรับบุคคลออทิสติก และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ภายใต้โครงการจัดการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยสำหรับบุคคลออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ในวันนี้ ซึ่งต้องขอชื่นชมทุกท่านที่ล้วนเป็นบุคคลที่อุทิศตนในทุกมิติ ทั้งในเรื่องการขับเคลื่อนงานสำหรับผู้พิการ งานของบุคคลออทิสติก และบุคคลออทิซึม
ตั้งแต่ดิฉันมารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน พยายามแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการทำงาน ซึ่งก็ได้ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และพวกเราชาว กศน.ที่มาช่วยเติมเต็มในการขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ ที่สำคัญคือการเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนให้ครบทุกมิติ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองที่บุตรหลานมีความบกพร่องทางด้านต่างๆ และนำปัญหาอุปสรรคมาสู่กระบวนการขับเคลื่อนให้มีการจัดการศึกษาได้ตรงตามความต้องการ สามารถนำไปใช้ และประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการจัดเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกันในวันนี้ถือเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง
โดยกิจกรรมการถอดประสบการณ์ครู และผู้ปกครองในการใช้หลักสูตรสำหรับบุคคลออทิสติก และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษครั้งนี้ ซึ่งทราบว่าในกิจกรรมมีการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชมรมและกศน.ในพื้นที่ กลุ่มวิทยากรครูผู้สอนคนพิการ ทั้งยังมีการแบ่งกลุ่มตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญเป็นการถอดประสบการณ์ ในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม เช่น ความเหมาะสมของเนื้อหาในหลักสูตร เนื้อหาวิชาเรียนต่างๆ ในแต่ละสาระการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนตามระดับ TIER1, TIER2, TIER3 ด้านการสนับสนุนอุปกรณ์ในการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ปัญหาอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอน แนวทางการพัฒนา แก้ไขปรับปรุง ข้อเสนอแนะ และความคาดหวังในอนาคต จากการเรียนการสอนภายใต้หลักสูตรนี้ ทั้งจากผู้เรียนและครูผู้สอน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และความมุ่งหวังในการสร้างอาชีพของบุคคลออทิสติกจากการเรียนการสอนรวมทั้งสามารถดูแลตนเองให้อยู่ในสังคมได้ เป็นต้น
“การจัดการศึกษาในรูปแบบการศึกษาพิเศษให้กับบุคคลกลุ่มนี้จะเกิดผลได้นั้น ต้องมาจากความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงบุคลากรครูผู้สอนที่จะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีกำลังใจในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเจตนารมณ์ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนารูปแบบการศึกษานอกระบบสำหรับบุคคลออทิสติก บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ในโอกาสนี้ต้องขอบคุณวิทยากร ผู้เข้าร่วมประชุม และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันทำให้การประชุมฯ ครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
ดิฉันขอส่งกำลังใจให้กับทุกคน และขอขอบคุณทุกความร่วมมือร่วมใจ เราจะร่วมกันขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ขอปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดประสบการณ์ครูผู้สอนคนพิการ และผู้ปกครองในการใช้หลักสูตรสำหรับบุคคลออทิสติก และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในโอกาสนี้ ขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุขมากยิ่งขึ้น ประสบความสำเร็จในทุกเรื่องและแคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งปวง ขออำนวยพรให้ทุกท่านประสบความสุข ความสำเร็จในทุกเรื่อง และขอให้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาด้วยความสวัสดิภาพปลอดภัยเราจะรักกันตลอดไป” นางกนกวรรณฯ กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน