|
ใช้คลุมดินเพื่อปลูกสตรอเบอร์รีเป็นหนึ่งในประโยชน์ของพลาสติก (ARMEND NIMANI / AFP) |
|
|
ในความเป็นจริง bakelite มีชื่อเคมีว่า polyoxybenzylmethylenglycolanhydride เป็นตัวอย่างหนึ่งของพลาสติก และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นักเคมีได้ผลิตพลาสติกชนิดต่างๆ ออกมามากมาย เช่น polyester, polyethylene, polyvinyl chloride (PVC), polyhexamethylene adipamide, polytetraperfluoroethylene (Teflon) poly นั่น และ poly นี่มากมาย
หลังจากที่ร่ำรวยเป็นอภิมหาเศรษฐี โดยการนำโลกเข้าสู่ยุคพลาสติกแล้ว ในปี 1944 bakeland ก็ลาโลกที่ Beacon รัฐ New York สิริอายุ 80 ปี
ในปี 1945 สหรัฐฯ สามารถผลิตพลาสติกได้ 400,000 ตัน ถึงปี 1979 การผลิตได้เพิ่มมากถึง 47 ล้านตัน เพื่อใช้ในการทำทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ฟันเทียม chip ชิ้นส่วนในคอมพิวเตอร์ จอโทรทัศน์ และภาชนะใส่อาหาร ฯลฯ
จนปัจจุบันโลกใช้พลาสติกประมาณปีละ 300 ล้านตัน โดยจีนผลิต 24.8% และยุโรป 20% สถิติการใช้ระบุว่า หนึ่งในสามของพลาสติกที่ใช้แล้วถูกโยนทิ้ง บ้างถูกนำไปฝังดิน และอีกมากถูกโยนลงทะเล สถิติยังระบุอีกว่า แม่น้ำ Danube ในประเทศ Romania ได้รับขยะพลาสติกถึงวันละ 4.2 ตัน และขยะนี้ในเวลาต่อมาถูกระบายออกทะเลดำ
คำถามที่นักสิ่งแวดล้อมปัจจุบันสนใจคือ อะไรเกิดขึ้นกับพลาสติกที่ใช้แล้ว สำหรับพลาสติกที่ถูกฝังดินก็จะอยู่ที่นั่นตลอดไป ให้นักธรณีวิทยาขุดขึ้นมาศึกษาในอนาคต ส่วนพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลก็จะลอยตัวให้คลื่นซัดไปติดฝั่ง บ้างก็ถูกปลากัดแทะจนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ถึงวันนี้นักวิทยาศาสตร์แทบไม่มีความรู้ทางชีววิทยาเลยว่า ปลา หอย ปู และสัตว์ทะเลอื่นๆ เวลากลืนกินพลาสติกเข้าไปจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพของมันเช่นไร
ในปี 1997 นักสมุทรศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ Charles Moore ขณะแล่นเรือจากฮาวายไปแคลิฟอร์เนียได้เห็นกองขยะพลาสติกใหม่เท่าภูเขาลอยเท้งเต้งอยู่กลางมหาสมุทร Pacific ภาพที่เห็นทำให้ Moore รู้สึกกังวลมากว่า มนุษย์กำลังสร้างขยะพลาสติกที่จะอยู่คู่โลกนานแสนนานโดยไม่มีทางกำจัดมันได้เลย นอกจากนี้เขาก็คิดว่าขยะพลาสติกเหล่านี้จะลอยอยู่ในมหาสมุทรอื่นๆ ของโลกด้วย ไม่เพียงแต่ในมหาสมุทร Pacific เท่านั้น
การติดตามความเป็นอยู่และเป็นไปของขยะในมหาสมุทรได้พบว่า ในซีกโลกเหนือซึ่งกระแสน้ำในมหาสมุทรไหลเลียบฝั่งในทิศตามเข็มนาฬิกา และในซีกโลกใต้กระแสน้ำจะไหลในทิศทวนเข็มนาฬิกา Moore ได้พบว่ากองขยะจากฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาใช้เวลา 60 วันในการเดินทางถึงบริเวณกลางมหาสมุทร Atlantic
การไหลของกระแสน้ำเช่นนี้ จึงทำให้มหาสมุทรอินเดีย, Pacific, Atlantic เป็นแหล่งสะสมกองปฏิกูลขยะพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจมากถึง 3 ล้านล้านชิ้น และหนักถึง 260,000 ตัน และนั่นหมายความว่า ในทุกพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรในมหาสมุทรจะมีถุงพลาสติก ถังน้ำพลาสติก ขวดพลาสติก ฯลฯ หนัก 10 กิโลกรัม เพราะพลโลกทิ้งพลาสติกลงทะเลปีละ 300,000 ตัน การติดตามขยะพลาสติกยังได้ข้อมูลอีกว่า ขยะพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มีตั้งแต่ 7,000-35,000 ตัน
ถ้าเราย้อนกลับไปดูสถิติในอดีต ก็จะพบว่า ในปี 1950 โลกผลิตพลาสติก 1.5 ล้านตัน ถึงปี 2013 ปริมาณการผลิตได้เพิ่มเป็น 219 ล้านตัน ทั้งนี้เพราะผู้ผลิตได้พบว่า การผลิตพลาสติกใหม่เป็นการลงทุนน้อยกว่าการซื้อพลาสติกเก่ามาใช้ใหม่
นักนิเวศวิทยายังได้พบอีกว่า ขยะบางส่วนแฝงอยู่ในก้อนน้ำแข็งแถบขั้วโลก ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 6 ล้านตารางกิโลกเมตร ดังนั้น ภูเขาน้ำแข็งจึงเป็นอีกแหล่งขยะพลาสติกอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งจะละลายเวลาโลกถูกคุกคามด้วยแก๊สเรือนกระจก ทำให้ขยะพลาสติกที่มีในน้ำแข็งถูกปล่อยกลับสู่ทะเลไปทำปฏิกิริยากับ polymer กลายเป็นตะกอนตกนอนก้นมหาสมุทรแทนที่จะลอยอยู่ที่ผิวน้ำ
ตามปกติพลาสติกมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำ ดังนั้นมันจึงจมน้ำ และอาจถูกสัตว์พวก phytoplankton จับไว้ ในเวลาต่อมาถ้าสัตว์ใหญ่ เช่น นก เต่า ปลา ฯลฯ กิน phytoplankton เป็นอาหาร มันก็จะกินพลาสติกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว และอาจตายได้ ถ้าเศษพลาสติกนั้นมีขนาดใหญ่ ซึ่งจะไปติดที่คอ จนสัตว์กลืนอาหารไม่ได้ และตายไปในที่สุด ด้านพลาสติกที่ดูดซับสารเคมีที่ลอยอยู่ในทะเล และถูกปลากลืนเข้าไป สารพิษก็สามารถฆ่าปลาได้ และถ้าปลาหรือสัตว์น้ำตัวนั้นยังไม่ตาย คนที่กินปลาก็อาจเป็นอันตรายจากการกินพลาสติกก็ได้เช่นกัน
ในอดีต โลกเคยห้ามการใช้ DDT ซึ่งเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต ควบคุมการสร้างฝนกรด ซึ่งทำลายระบบนิเวศ มาบัดนี้ วงการวิทยาศาสตร์และนิเวศวิทยากำลังกังวล เรื่องมลภาวะที่เกิดจากพลาสติกขนาดไมโคร (microplastic pollution) และคงจะออกมาตรการควบคุมในเร็ววัน |