พัดรัตนาภรณ์ เป็นพัดประจำรัชกาลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลต่างๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อพระราชทานแด่พระสงฆ์ที่ทรงเคารพนับถือและทรงคุ้นเคย ถือเป็นพัดรองประเภทหนึ่ง ใช้ได้เฉพาะพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานเท่านั้น และใช้เฉพาะเมื่อถวายอนุโมทนาในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลเพียงงานเดียว
ความเป็นมา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพัดรัตนาภรณ์ขึ้น เพื่อถวายพระสงฆ์ที่ทรงเคารพนับถือ อนุโลมตามเหรียญรัตนาภรณ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ซึ่งได้ตามเสด็จประพาสชวาและช่วยกันถวายการรักษาพยาบาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา ซึ่งประชวรหนักอยู่เป็นเวลานาน
ในรัชกาลต่อมาก็ได้สร้างพัดรัตนาภรณ์ และพระราชทานเหรียญในกรณีต่างๆ แก่บุคคลอื่นๆ ด้วย
กล่าวได้ว่า เหรียญรัตนา ภรณ์ พระราชทานให้แก่บุคคล ส่วนพัดรัตนาภรณ์ พระราช ทานแก่พระภิกษุสงฆ์
พัดรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพัดรัตนาภรณ์ประจำรัชกาล สำหรับถวายพระสงฆ์ที่ทรงเคารพนับถือ ใช้เวลาถวายอนุโมทนาในพระราชพิธีฉัตรมงคล เมื่อแรกสร้างมิได้กำหนดชั้นของพัด มาพบว่า เรียกเป็นชั้นที่ 1 ในกำหนดการเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินในการฉลองพระชันษา 90 ปี ของสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วันพุธที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2531 ดังนี้
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
เวลา 16.00 น. รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่ประตูหน้าพระอุโบสถ (นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการ เฝ้าฯ รับเสด็จ) เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธอังคีรส ประธานพระอุโบสถ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 7 และพระบรมราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงกราบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปถวายน้ำสรงสมเด็จพระสังฆราช ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายพัดยศพิเศษ ถวายพัดรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร.ชั้น 1 และถวายไตร ดอกไม้ธูปเทียนแด่สมเด็จพระสังฆราช…”
ลักษณะ เป็นพัดหน้านางเช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆ เมื่อแรกสร้างพื้นพัดทำด้วยผ้าต่วนสีน้ำเงิน ต่อมาภายหลังทำด้วยไหมสีน้ำเงิน กลางพัดมีอักษรพระปรมาภิไธย
ภปร อยู่ในวงกลมมีรัศมีแบบเหรียญรัตนาภรณ์ อักษรพระปรมาภิไธยและรัศมีประดับพลอยสีขาว (แทนเพชร) เดิมมิได้ประดับพลอย รอบพัดเป็นแถบแพรสีเหลือง มีริ้วขาว 2 ข้าง
ด้านบนพัดปักดิ้นเป็นรูปหน้ากาล กลางหน้ากาลมีรูปจักรี ด้านข้างพัดซ้าย ขวาปักดิ้นเป็นลายประจำยาม นมพัดปักดิ้นเป็นลายกระหนก ตรงกลางลายกระหนกเป็นรูปกลีบบัว ภายในกลีบบัวมีพระมหาพิชัยมงกุฎ ด้ามมี 2 แบบ คือ ด้ามทำด้วยไม้ คอพัดและซ่นพัด ทำด้วยงา (ของสมเด็จพระสังฆราช : วาสน์ วาสโน วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช : เจริญ สุวัฑฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร) และด้ามทำด้วยไม้ คอพัดและซ่นพัด ทำด้วยโลหะ (ของสมเด็จพระสังฆราช : อยู่ ญาโณทโย วัดสระเกศ และสมเด็จพระสังฆราช จวน อุฏฐายี วัดมกุฏกษัตริยาราม)
พัดรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน ได้ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 5 องค์ คือ
1.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สกลมหาสังฆปริณายก (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 13 วัดบวรนิเวศวิหาร
2.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 15 วัดสระเกศฯ
3.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฺฐายี) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 16 วัดมกุฏกษัตริยาราม
4.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 18 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปถวายพัดรัตนาภรณ์ เนื่องในงานฉลองพระชันษา 90 ปี
5.สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฒโน) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 วัดบวรนิเวศวิหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปถวายพัด รัตนาภรณ์ เนื่องในงานฉลองพระชันษา 80 ปี
พัดรัตนาภรณ์ถวายพระพุทธรูปสำคัญ
นอกจากนี้ เมื่อพุทธศักราช 2501 ครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ถวายพัดรัตนาภรณ์แด่พระพุทธชินราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกด้วย
ปัจจุบัน พัดเล่มนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก