“World Business Angel Investor Week 2022” สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย จัดงานเสวนาทางด้านการลงทุนระดับโลก “World Business Angel Investor Week 2022” ภายใต้หัวข้อ “Business Transformation for Post-Pandemic economies” โดยความร่วมมือจาก World Business Angels Investment Forum (WBAF) และพันธมิตรมากกว่า 132 ประเทศทั่วโลก ที่มาแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ Angel investment,Startup economy,Financial inclusion,Gender quality,Entrepreneurship และ Innovation ในรูปแบบออนไลน์ผ่าน Zoom Webinar
ที่จัดตั้งแต่วันที่ 20-26 มิถุนายน 2565 ซึ่งเวทีประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 โดยมี ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ (สวทช.) และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ (สวทช.) และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวในฐานะ Country chair WBAW ว่า Angel Investor มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ และระบบนิเวศของผู้ประกอบการเพราะสามารถช่วยให้เข้าถึงและอยู่ในตลาดได้โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ Angel Investor เป็นทั้งแหล่งเงินทุน ผู้ให้คำปรึกษาและสามารถแบ่งปันประสบการณ์ได้จากเครือข่ายที่มี ในส่วนของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีหน่วยงานภายใต้ (สวทช.) ทำหน้าที่สนับสนุนและดำเนินการวิจัย พัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการให้บริการเทคโนโลยีแก่ภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเข้าร่วม WBAF ตั้งแต่ปี 2020 สวทช. เป็นที่ตั้งของ Thailand Country office มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยการช่วยให้เข้าถึงแหล่งทุน การบ่มเพาะธุรกิจ ให้คำปรึกษา ในการทำธุรกิจช่วงเริ่มต้น
ซึ่งทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตร เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อหลายปีที่ผ่านมาได้มีบทบาทในส่วนของภาครัฐที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสตาร์ทอัพ โดยมีเป้าหมายคือการสร้างอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง เชื่อมต่อกับหลายแหล่งทุนและเครือข่าย Angel เช่น การจัด Pitching& Matching ระหว่าง สวทช.และ TBAN มีการส่งเสริมกิจกรรมของสตาร์ทอัพ หรือ NSTDA Acceleration Program เพื่อหา 24 บริษัท deep tech startup ที่โดดเด่น ด้วยการ pitching 3 กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีอาหาร เทคโนโลยี IOT และ เครื่องมือทางด้านสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ศูนย์ลงทุน (NSTDA Investment Center: NIC) ที่ทำหน้าที่ด้านการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมสังคมเศรษฐกิจ โดยการนำเทคโนโลยีไปใช้ในเชิงพาณิชย์ สวทช. ไม่เพียงสนับสนุนเงินทุนแต่มีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีอีกด้วย
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ (สวทช.) ได้กล่าวถึง BCG Economy model ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย B ที่มาจากคำว่า Bioeconomy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ ทรัพยากรชีวภาพ หรือผลผลิตทางการเกษตร เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง C มาจากคำว่า Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ และ G มาจากคำว่า Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว คือ การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งเน้นใน 4 เรื่อง ได้แก่
1.เกษตรและอาหาร
2.สุขภาพและการแพทย์
3.วัสดุและพลังงาน และ
4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ซึ่งคาดหวังผลกระทบใน 4 ประเด็น
1.สร้างความยั่งยืนให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
3.เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ
4.การพึ่งพาตนเอง โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีริเริ่มโครงการและดำเนินงานในหลายส่วน เช่น การออกนโยบายสนับสนุนที่เกี่ยวกับ BCG และการลงทุน การออกระเบียบข้อบังคับเรื่องการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรม การสนับสนุนทางการตลาด และการลงทุนในโครงสร้างพื้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการสร้าง เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ที่เป็นศูนย์กลาง นวัตกรรมแห่งใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยในหัวข้อสตาร์ทอัพนำพาบริษัทให้อยู่รอดทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง COVID-19 ได้อย่างไร จาก คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO and Co-Founder บริษัท Techsauce Media จำกัด โดย ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำ Business Transformation ซึ่งมี 3 ส่วนที่จะต้องพิจารณา ได้แก่
1.mindset หรือทัศนคติของทีมงานที่ต้องพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่
2.skill set ทักษะหรือที่สิ่งทีมงานยังขาดและต้องเพิ่มเติม 3.เครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยจัดการระบบหลังบ้าน เช่น ระบบบัญชี การเงิน ให้อยู่ในรูปแบบของดิจิทัล และส่วนสำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือเรื่องของแผนสำรองทางการเงินที่ดี ซึ่งมีตัวช่วยที่สำคัญคือ พาร์ทเนอร์หรือ นักลงทุน โดยการเข้าใจมุมมองและความสนใจของนักลงทุนจะต้องให้ประสบความสำเร็จในเรื่องของการหาพาร์ทเนอร์ได้
โดยในช่วงท้ายของงานยังมีเวทีเสวนาเรื่องมุมมองของภาครัฐในทิศทางการลงทุนและสนับสนุนสตาร์ทอัพในหัวข้อเส้นทางสู่การสนับสนุนสตาร์ทอัพ BCG ในประเทศไทย โดย คุณปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) คุณยุทธนา ศรีสวัสดิ์ กรรมการและเหรัญญิก สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (TSTA) คุณเปรมปรีดี กิตติรัตน์ตระการ ผู้อำนวยการ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) คุณนฤชา ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ได้มองว่าธุรกิจ BCG นั้นควรให้การส่งเสริม เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่หลากหลายอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาได้มีการร่วมมือกับ 8 หน่วยงานในเมืองไทย จัดงาน BCG Startup Investment Day เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่ม BCG ได้มีการ pitching และเกิดการ Matching กันระหว่างบริษัทและกลุ่มนักลงทุน รวมถึงได้รับการสนับสนุนจาก BOI ด้วยเช่นกัน
ปิดท้ายด้วยการเสวนาเพื่อสร้างความเข้าใจมุมมองของนักลงทุน โดยคุณสุเมธ ลักษิตานนท์ นายกสมาคม TBAN คุณณัฐศักดิ์ โรจนพิเชฐ นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส และคุณเมธา จารัตนากร กรรมการสมาคม TBAN ที่ได้ให้แนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตรวมถึงทำให้บริษัทสตาร์ทอัพมีโอกาสที่จะเติบโตได้ในระยะยาวซึ่ง
นักลงทุนให้ความสนใจใน 3 เรื่อง ได้แก่ สุขภาพการแพทย์ การเกษตร และการท่องเที่ยวซึ่งเป็น 3 เรื่องสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์พิเศษบริษัท ALTO TECH จำกัด โดยนายกสมาคมทีบานในมุมมองเกี่ยวกับกลยุทธ์และแนวคิดของ BCG สตาร์ทอัพที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงวิกฤตด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน