ภายใต้นโยบายนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง กรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งสืบสวนและรวบรวมหลักฐาน จึงทราบว่ามีการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 : นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้นายวรพจน์ ไม้หอม รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค และนายเทวา จุฬารี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 7 ลงพื้นที่ตรวจค้นแหล่งเก็บสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า จำนวน 2 จุด ซึ่งเป็นโกดังเก็บสินค้า และบ้านพักอาศัยในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยอาศัยอำนาจหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้พบสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหลายยี่ห้อ ได้แก่ Louis,MCM,Dior,channel เป็นต้น รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 30 ล้านบาท
กรณีดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2534 ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศพระราชบัญญัติการสอบสวนพิเศษ พ.ศ.2547และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ซึ่งจะได้ทำการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและประมวลเรื่องเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่ามีเหตุและมีเงื่อนไขที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ความสำคัญกับการป้องกันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากประเทศไทยถูกสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) จัดอันดับสถานะทางการค้า อยู่ในบัญชีประเทศ ที่ถูกจับตา (WL) ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและมีนโยบายในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มข้น โดยจะได้ดำเนินการสืบสวนจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดอย่างจริงจังและเด็ดขาด ต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน