(25 มิ.ย.65)เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.65 เวลา 10.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 603 ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
คดีดำ อ.104/64 คดีแดง อ.1012/65 ระหว่างบริษัทซิโน-ไทย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)โดยนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ โจทก์ นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำเลย โดยมีดร.เกษม ศุภสิทธิ์ เป็นทนายจำเลย ความผิดฐานหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท จากกรณีที่นายวัชระได้ตั้งคำถามต่อสังคมว่าบริษัท ซิโน-ไทยฯขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ถึง 4 ครั้งเป็นการใช้อิทธิพลการเมืองหรือไม่นั้น ศาลมีคำพิพากษาว่า ไม่เป็นการหมิ่นประมาท ถือเป็นคดีที่2 ที่ศาลยกฟ้องนายวัชระที่ถูกบริษัทซิโน-ไทยฟ้องหมิ่นประมาท
นายวัชระ กล่าวว่า ขอขอบคุณศาลยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรม ซึ่งตนสงสัยในธรรมาภิบาลของบริษัทซิโน-ไทยว่ามีหรือไม่ และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัทคือบุคคลคนเดียวกันที่นำเงินสด 20 ล้านบาทให้กลุ่มบุุคคลที่ชั้น 25 อาคารซิโน-ไทยในคดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของป.ป.ช.ที่มีมากถึง 106 หน้าในคดีหมายเลขดำที่ 07-3-619/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 308-3-50/2562 ป.ป.ช.กลับมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63 ไม่ฟ้องบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และตัวแทนผู้มีอำนาจรวม 3 ราย เพราะเห็นว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นการไต่สวนไม่ตรงตัวบทกฎหมายตั้งแต่ต้นตามประมวลกฎหมายอาญาม. 144 ความผิดฐานเป็นผู้ให้สินบน แต่ตามคำพิพากษาศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำที่ อท40/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อท55/2565 เมื่อวันที่ 3 พ.ค.65 สั่งจำคุกเจ้าหน้าที่รัฐ 4 ราย
ขณะที่อัยการสูงสุดยุคนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ก็สั่งไม่ฟ้องและขณะนี้ป.ป.ช.ยังไม่ฟ้องศาลอาญาทุจริต แต่ข้าราชการที่รับเงินสินบนจำนวน 20 ล้านบาทกลับถูกศาลอาญาทุจริตสั่งลงโทษจำคุกคนละ7 ปีจำนวน 3 คนและจำคุก 15 ปีจำนวน 1คน โดยศาลไม่ให้ประกันตัว จึงจะรอดูว่าเมื่อไรป.ป.ช.จะฟ้องนายภาคภูมิกับพวก ขออย่าให้ชาวบ้านคิดว่าป.ป.ช.จะฟ้องแต่ข้าราชการบ้านนอกที่ไม่มีเส้นไม่มีสายเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ยังมีอีกคดีหนึ่งที่ศาลยกฟ้องนายวัชระเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.64 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 233 /2564ระหว่าง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ กับนายวัชระ เพชรทอง จำเลย คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ และเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างสัปปายะสภาสถาน (รัฐสภาแห่งใหม่) ให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ สัญญาเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เม.ย.56ค่าก่อสร้าง 12,280 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ก.พ.64 จำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่ 3 โดยน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ด้วยวิธีการโฆษณา โดยจำเลยได้นำป้ายข้อความว่า “สัญญาก่อสร้าง 900 วัน ขยายเวลา 4ครั้ง 1,864 วัน รวม 2,764 วัน ยังสร้างไม่เสร็จ บริษัทมีมาตรฐานหรือไม่” ขึ้นประกอบการแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวที่รัฐสภา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ข้อความที่ว่า “บริษัทมีมาตรฐานหรือไม่” เป็นตัวอักษรสีแดงเป็นการชี้นำให้ผู้ที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าโจทก์ไม่มีมาตรฐาน ศาลพิเคราะห์ข้อความในส่วนดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเป็นประโยคคำถามในลักษณะเป็นการตั้งข้อสังเกตเท่านั้น มิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่าโจทก์เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ไม่มีมาตรฐานจนเป็นเหตุให้ต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างถึง 4 ครั้งแต่อย่างใด กรณีจึงยังมิอาจถือได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ ประกอบกับข้อความที่ปรากฏในป้ายของจำเลยจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่วไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความดังกล่าวถึงขั้นทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทน่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่เพียงฝ่ายเดียว