กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนทุ่งกุลาร้องไห้” ใช้กลไก Training Hub สถานีกระจายความรู้สร้างทักษะให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้นแบบขยายผลการใช้เทคโนโลยีให้ครอบคลุมพื้นที่เขตทุ่งกุลาร้องไห้ สอดคล้องพันธกิจจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งเป้ายกระดับรายได้เกษตรกรก้าวพ้นขีดความยากจน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
นายเชวงศักดิ์ พลเยี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดมีประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มุ่งเน้นพัฒนาความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมบนพื้นฐานแหล่งผลิต สร้างมูลค่าข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง และเป็นเมืองน่าเที่ยว น่าอยู่ การดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานในบันทึกข้อตกลงนี้สอดคล้องกับพันธกิจของจังหวัดทั้ง 3 ประการ คือ
1) ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในนวัตกรรมเพิ่มศักยภาพในการบริหารทรัพยากรและสินค้าเกษตรให้เป็นเกษตรที่ปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย
2) พัฒนาให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน เชื่อมโยงการบริการ สินค้าผลิตในชุมชน รวมทั้งวัฒนธรรม ค่านิยมประเพณีอันดีงาม สามารถผสมผสานกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมใหม่ได้อย่างกลมกลืน และ
3) พัฒนาคนให้มีคุณภาพ สร้างโครงสร้าง สร้างอาชีพ รายได้ ให้ภาคประชาสังคม และส่งเสริมให้ดำเนินการชีวิตตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ
“การสร้างสถานีเรียนรู้ หรือ Training Hub เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่สู่ชุมชนทุ่งกุลาร้องไห้ โดยนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากทั้ง 2 หน่วยงาน รวมทั้งหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่สู่ชุมชนในพื้นที่ เกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ตอบโจทย์การพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ดให้ชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้และยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่
การลงนาม MOU ในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นว่าจังหวัดร้อยเอ็ดมีสถานีเรียนรู้ที่จะใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ทั้งเกษตรกร คนในชุมชน เจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้สนใจทั่วไป ได้เข้ามาเรียนรู้หลักสูตรที่ตอบโจทย์การพัฒนาจังหวัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าว พืชหลังนา สมุนไพร โคเนื้อและการบริหารจัดการน้ำ จนสามารถนำเอาองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนาและยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้ได้มาตรฐาน โดยจังหวัดยินดีที่จะสนับสนุนกิจกรรมและร่วมดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นที่จะขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ของจังหวัด ต่อไป” รองผู้ว่าฯ กล่าว
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าวว่า ทุ่งกุลาร้องไห้มีพื้นที่ 2.1 ล้านไร่ ครอบคลุม 13 อำเภอ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และยโสธร ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดมีถึง 5 อำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาฯ (สวทช.) โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากทั้งสองหน่วยงานเข้าไปแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ตั้งแต่ปี 2561 ยกระดับกลุ่มเกษตรกร 2,000 คน ในพื้นที่อำเภอ อ.สุวรรณภูมิ,อ.เกษตรวิสัย และ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพ ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ การจัดการแปลง ไปจนถึงการแปรรูปข้าว เพิ่มผลผลิตข้าวได้เป็น 450 กก./ไร่ การปลูกพืชหลังนาบำรุงดิน และการผลิตผักอินทรีย์ในระบบโรงเรือน สร้างรายได้เสริมเฉลี่ย 2,000 บาทต่อปี และสร้างการเรียนรู้สมาร์ทเทคโนโลยีระบบโซล่าร์เซลล์ เพื่อให้เกษตรกรบริหารจัดการน้ำบนดินและน้ำใต้ดินสำหรับใช้ในภาคการเกษตรได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น
“ผลจากการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างหน่วยงาน (สวทช.) ได้ต่อยอดความร่วมมือกับ (มทร. อีสาน) ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน” โดยจะร่วมกันพัฒนาแหล่งเรียนรู้ สาธิต และทดสอบเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัย ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้จากทั้งสองหน่วยงานและเครือข่ายพันธมิตร นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรที่รองรับการเรียนรู้ในระดับภาคสนาม และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ชุมชนโดยเน้นการลงมือปฏิบัติ ตลอดจนสร้างกลไกการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ในพื้นที่ให้เกิดการเข้าถึงองค์ความรู้ และสามารถขยายผลองค์ความรู้ให้เครือข่ายกลุ่มเกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้สนใจทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ให้เกิดการพัฒนาบุคลากรร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน ความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และในจังหวัดใกล้เคียง ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 38,000 บาท/คน/ปี ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) กล่าวว่า นอกจากการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพให้ประเทศแล้ว การพัฒนางานวิจัยและการใช้นวัตกรรมบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคม เป็นอีกภารกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด มทร. มีวิทยาเขตร้อยเอ็ด ที่เข้าถึง เข้าใจและทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยได้บูรณาการความรู้และความร่วมมือกับ (สวทช.) ตลอดจนภาคีเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปลี่ยนชีวิตชาวทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นทุ่งกุลายิ้มได้
“ความร่วมมือกับ (สวทช.) ในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาสถานีเรียนรู้ (Training Hub) ที่จะเป็นกลไกสำคัญให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ซึ่งสถานีเรียนรู้จะอยู่ทั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ และพื้นที่ของเกษตรกร รวม 7 สถานีหลัก ครอบคลุมทั้งเรื่องการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง การบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานเพื่อการเกษตร การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรประณีตเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง การผลิตพืชหลังนา โคกหนองนา และการผลิตสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งสถานีเรียนรู้นี้จะเป็นทั้งจุดเรียนรู้ สาธิต และทดสอบเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เป็นสถานีถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรแกนนำ เจ้าหน้าที่ รวมถึงประยุกต์เข้ากับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเป็นต้นแบบขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้การดำเนินงานสถานีเรียนรู้จะมีหลักสูตรการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ช่วยพัฒนาและยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับการเติมเต็มทั้งความรู้วิชาการและการลงมือปฏิบัติ โดยมีคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญจาก (สวทช.) ร่วมให้ความรู้และคำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการยกระดับภาคการเกษตรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทั้งระบบสู่การทำเกษตรสมัยใหม่หรือเกษตร 4.0 ได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือเปลี่ยนคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้นให้เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกลาร้องไห้ได้มีรอยยิ้มอย่างแท้จริง” อธิการบดี (มทร.) กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน