เมื่อเวลา 17.59 น. วันที่ 21 มิถุนายน 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และประธานที่ปรึกษาสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำ นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เฝ้าฯ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผ้าลายประจำจังหวัด จำนวน 76 ผืน แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 3 มิถุนายน 2565 ด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรในทุกภูมิภาคของประเทศ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยราษฎรทรงทุ่มเทกำลังพระวรกาย ในการพระราชทานความช่วยเหลือและทรงให้ความสำคัญผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน
ในการนี้ นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมด้วย นางจิตติวรรณ สิทธิวิรัชธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสิงห์บุรี/ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสิงห์บุรี ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือข้อมูลผ้าประจำจังหวัดสิงห์บุรีและผ้าลายประจำจังหวัดสิงห์บุรี “ผ้าลายริ้วทองตามรอยเสด็จประพาสต้น” มีประวัติโดยย่อดังนี้ ย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสเมืองสิงห์บุรีหลายครั้ง เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวสิงห์บุรียิ่งนัก ครั้งหนึ่งของการเสด็จประพาสต้นใน พ.ศ. 2421 ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ระยะทางเสด็จประพาสต้นมณฑลอยุธยา เมื่อปีขาล พ.ศ.2421” เล่าเรื่องการเสด็จประพาสวัดบ้านแป้ง วัดพระนอนจักรสีห์และวัดพรหมเทพาวาส ความว่า “…ออกจากปากน้ำบางพุทราล่องลงมาถึงพลับพลาคลองกทุงแขวงเมืองพรหมบุรี เวลา 5 โมงครึ่ง จัดเรือให้จอด แลแก้ไขพลับพลาบ้างแล้วยังไม่พร้อมกัน ลงเรือโสภณล่วงลงไปขึ้นที่วัดบ้านแป้ง ที่เมืองแป้งนี้เป็นเมืองท่าขึ้นเมืองลพบุรีได้ออกชื่อไว้แต่ก่อน วัดกว้างใหญ่ กวาดเตียน เข้าไปดูในโบสถ์แลที่พระบาทจำลองแล้วมานั่งที่การเปรียญเรียกพวกลาวมาขายของ มีผ้าซิ่นแลด้ายผ้าขายวา มาขายบ้าง …” ในการครั้งนั้นได้มีการกล่าวว่า ทรงซื้อผ้าซิ่นริ้วทอง 2 ผืน ผ้าพื้น 6 – 7 ผืน
“ ผ้าลายริ้วทองตามรอยเสด็จประพาสต้น” มีความเป็นมาที่ชาวสิงห์บุรีมีความภาคภูมิใจที่จะส่งเสริมและต่อยอดลายผ้าริ้วทองให้ได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยผ้าจะเป็นสีจากเปลือกมะกล่ำต้น ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสิงห์บุรี และมีสีแดงคล้ายหมากสุก ซึ่งเป็นสีเอกลักษณ์ของจังหวัดสิงห์บุรี สีแห่งนักรบ นักสู้โดยใช้สีทองที่เกิดจากการย้อมธรรมชาติด้วยเส้นไหมด้ายพุ่งสลับฝ้าย
กชกร พวยไพบูลย์
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสิงห์บุรี