วันที่ 23 มิถุนายน 2565 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จับมือกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบมาตรวิทยาต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม ตั้งเป้าหมายแรกในการยกระดับมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กระบบเซ็นเซอร์ของประเทศไทย
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
พร้อมด้วย นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาระบบมาตรวิทยาร่วมกัน โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้ง นายอนุสรณ์ ทนหมื่นไวย รองผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ,นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ ณ ห้องดอยหลวง โรงแรมดวงตะวันเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวง (อว.) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยและนวัตกรรม โดยนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดฝุ่น Dust Boy เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือของ (วช.) เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย โดยทั้งสามฝ่ายได้ประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือของงานวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ผ่านการใช้ระเบียบวิธีทางมาตรวิทยา เพื่อสนับสนุนความเชื่อมั่นในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมในวงกว้าง ซึ่งทางสถาบันมาตรวิทยาจะสนับสนุนการวิเคราะห์ ทดสอบและสอบเทียบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ผลงานและนวัตกรรม ที่พัฒนาขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับต่อการนำไปใช้ประโยชน์ โดยในระยะแรกจะร่วมกันพัฒนามาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นเครื่องวัดฝุ่นต้นทุนต่ำในประเทศไทย นำร่องด้วยการสร้างแนวทางการเทียบวัดมาตรฐานของเครื่องตรวจวัดฝุ่น DustBoy ที่พัฒนาในนามมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก (วช.) เพื่อให้ผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเครื่องวัดฝุ่นทั่วประเทศในปัจจุบันเกิดความเชื่อมั่นต่อการนำข้อมูลไปใช้ในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กและปัญหาสุขภาพที่เป็นผลกระทบจากมลพิษอากาศ ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การสร้างนวัตกรรม และรูปแบบธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ สัมภัตตะกุล หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะนักวิจัย (มช.) และทีมพัฒนา DustBoy ได้รับการสนับสนุนจาก (วช.) ด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบัน เครื่อง DustBoy มีเครือข่ายจุดติดตั้งที่เข้มแข็งทั่วประเทศ และยังมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกับเครือข่ายเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศอื่นๆ ในประเทศไทย รวมกว่า 1,800 จุด และการลงนามความร่วมมือกันของทั้ง 3 หน่วยงานในวันนี้ จะเป็นก้าวต่อไปของงานวิจัยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซ็นเซอร์ ที่จะสร้างมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักสากล และเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้ประโยชน์จากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ DustBoy ของประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงพัฒนาการของเครื่องตรวจวัดฝุ่น DustBoy ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา พร้อมทั้งเครือข่ายข้อมูลฝุ่นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แสดงผลบนแพลตฟอร์มหลากหลาย รวมไปถึงการต่อยอดงานวิจัยพัฒนาเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า DustBoy EV-Bike ต่อจากนั้น ทางคณะผู้ลงนามได้เดินทางไปเยี่ยมชมส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ณ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เครื่องตรวจวัดฝุ่น Dust Boy ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ติดตั้งง่าย ดูแลรักษาสะดวก และมีระบบจัดเก็บข้อมูล Big Data Management ที่มีประสิทธิภาพ ทราบข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการได้ในวงกว้าง ทั้งในระดับชาติ และในระดับนานาชาติ ยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน