วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่เทศบาลนครรังสิต ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจาง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการแสดงผลงาน และพิธีมอบโล่เกียรติยศ ประกาศเกียรติคุณ และทุนการศึกษาโครงการประกวดแนวคิดการออกแบบ The Landmark Rangsit “ปทุมธานีเมืองแห่งสายน้ำจากพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 5” บริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ระดับนิสิตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในจังหวัดปทุมธานี โดยมีร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต ให้การต้อนรับพร้อมกล่าวรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
ภายในพิธีฯ มี พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต พระอารามหลวง ประธานอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม ประธานที่ปรึกษาคณะทำงานโครงการฯ พร้อมด้วย พระครูสังฆรักษ์รังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย คณะที่ปรึกษาโครงการฯ ฝ่ายสงฆ์ คุณสุดาลักษณ์ ชินวิรารัฒน์ ประธานชมรมรักษ์บวร รักษ์ศีล 5 ปทุมธานี ในอุปถัมภ์พระธรรมรัตนาภรณ์ รองประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯ ผู้บริหารขององค์กรภาคีเครือข่ายภาคเอกชนผู้สนับสนุนทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อนดำเนินงานโครงการฯ เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการแสดงผลงาน และพิธีมอบโล่เกียรติยศ ประกาศเกียรติคุณ และทุนการศึกษาของโครงการประกวดแนวคิดการออกแบบ The Landmark Rangsit “ปทุมธานีเมืองแห่งสายน้ำจากพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 5” ภายใต้โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะ เพื่อน้อมรำลึกพระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบแนวคิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี พัฒนาแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สร้างศูนย์รวมจิตใจ สร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกายใจที่ดีของประชาชน ซึ่งสอดคล้องส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และเทศบาลนครรังสิต โดยความร่วมมือสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
สำหรับโครงการการประกวดแนวคิดการออกแบบฯ มีนิสิตนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในจังหวดปทุมธานี 4 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยรังสิต เข้าร่วมโครงการฯ โดยผลการพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม RSU Profressional + จากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมด้วยทุนการศึกษารวม 200,000 บาท เป็นทุนการศึกษา 100,000 บาท และทุนการศึกศาเพื่อพัฒนาต่อยอดแนวคิดการออกแบบเพิ่มเติมอีก 100,000 บาท, รางวัลชมเชย รอบชิงชนะเลิศ จำนวน 4 ทีม ประกอบด้วย ทีม หนึ่งหก สองสี่ หนึ่งสาม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ทีม The Empty จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ทีม BU_V จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, ทีม BU_V 05 จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมด้วยทุนการศึกษาทีมละ 20,000 บาท ทุนการศึกษาพัฒนาผลงานเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ทีมละ 10,000 บาท และรางวัลชมเชย รอบคัดเลือก จำนวน 4 ทีม ประกอบด้วย ทีม PLEARN จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ทีม 23.69 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ทีม SKSA จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, ทีม G 62 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมด้วยทุนการศึกษาทีมละ 10,000 บาท
ซึ่งจากนี้ไป ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยความร่วมมือของทีมผู้เข้าประกวดแบบทีมอื่นๆ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ คณะทำงานจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จะได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และเทศบาลนครรังสิต ดำเนินการพัฒนาจากแนวคิดการออกแบบสู่การออกแบบรายละเอียดด้านต่างๆ ต่อยอดดำเนินการนำเสนอโครงการฯ เพื่อการก่อสร้างจริง เริ่มต้นจากพื้นที่ในส่วนที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์ ลานกิจกรรมอเนกประสงค์ ห้องประชุม สวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ลู่เดินวิ่ง ลู่จักรยานสำหรับกำลังกาย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้เป็น The Landmark Rangsit เพื่อประโยชน์สาธารณะอันนำมาซึ่งความสุขกายสุขใจของประชาชนสืบไป
ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวว่า เนื่องจากเรามีการดำเนินการเตรียมสร้างอนุสาวรีย์ เพราะเราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นเกียรติที่พระองค์ท่านได้พระราชทานชื่อ ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นชื่อของพระองค์ท่าน และปีนี้เป็นปีที่ 126 เดิมเรามองจะสร้างอนุสาวรีย์และสวนสาธารณะ เมื่อเราได้ปรึกษากับภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน และภาคต่าง ๆ รวมถึงคณะสงฆ์ด้วยเราจึงมีความคิดที่เปลี่ยนไป โดยมีเพิ่มการมีส่วนร่วมจากทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในจังหวัดปทุมธานี เพื่อมีส่วนร่วมในการออกแบบ เมื่อเราเห็นผลงานที่ออกมาแล้ว รู้สึกเกินคาด รู้สึกทึ่งจริง ๆ เมื่อน้องนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยได้ออกแบบมาทำให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันได้แสดงไอเดียมากมาย เราจะนำไอเดียเหล่านี้มาใช้เพื่อให้อิงกับยุคสมัย จะเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีลานอเนกประสงค์ เป็นปอดของชาวนครรังสิตและเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดปทุมธานีต่อไป
ส่วนกรณีที่ คณะกรรมาธิการ กระจายอำนาจฯ มีมติส่งเรื่องถึง มหาดไทย พิจารณาเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศนั้น ในส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับที่คณะกรรมาธิการ การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ มีมติส่งเรื่องถึง มหาดไทย พิจารณาเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งต้องขออนุญาตเรียนว่าจะให้เสนอความคิดเห็นส่วนตัวตนเองมองว่าในปัจจุบันนี้การที่เราทำงานในองค์กรของเรากับหน่วยงานอื่นๆค่อนข้างจะติดขัดก็จะมีปัญหาเล็กๆน้อยๆคือเหมือนคล้ายๆกับว่าต่างคนต่างมีหน้าที่ที่จะทำของตัวเองก็ทำให้การที่ประสานงานหรือทำงานที่ให้เชื่อมโยงกันจะยากซึ่งก็มองว่าตามที่เราจะบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้ดีเราก็จะต้องร่วมมือกันผนึกกำลังกันให้ไปในแนวทางเดียวกันและทำงานสำเร็จไม่ใช่ว่าต่างคนต่างทำสิ่งหนึ่งที่จะมีการจัดตั้งหรือจัดทำอย่างนั้นขึ้นมาก็จะทำให้การบริหารจัดการเป็นเนื้อเดียวกันซึ่งมองว่าตรงนี้จะมีประโยชน์อย่างมากกับประชาชนจริงๆจากที่ได้เห็นประสบการณ์มา เช่นการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.และเมืองพัทยาที่เป็นพื้นที่ปกครองพิเศษก็จะเห็นว่าการบริหารจัดการเขาเป็นแนวทางเดียวกัน อย่างเช่นตัวนายกเองก็เป็นลูกหลานคนปทุมธานีซึ่งก็เห็นและเข้าใจการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนปทุมธานีเป็นมาอย่างไรเคยเห็นฟิวเจอร์ตั้งแต่เด็กๆเห็นรังสิตมาตั้งแต่เด็กๆว่ามีการเปลี่ยนแปลงพัฒนามากน้อยเพียงใด ตนเองเชื่อว่าคนในพื้นที่ก็ต้องเข้าใจในบริบทของเขาอยู่แล้วหรือของแต่ละพื้นที่มากกว่า ถ้าเราอยู่ที่นี่ไปทำงานที่อื่น ก็จะไม่เข้าใจท้องถิ่นนั้นๆเท่ากับประชาชนเจ้าของพื้นที่เขาเอง.
ภาพ/ข่าวสมาคมนักข่าวจังหวัดปทุมธานี