ตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจฐานรากให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน หนุนสมาชิกกองทุนฯ ปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล เข้าถึงโอกาสสร้างเงิน สร้างรายได้ยุคใหม่
วันที่ 20 มิถุนายน 2565 เวลา 09.30 น. ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยมี นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา,นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี,นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา เขต 1,นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา เขต 3 นายกามิน มุซิ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ยะลา เขต 3,นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อํานวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ,นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเมืองเข้าร่วมในพิธี
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนในระดับชุมชนมากที่สุดองค์กรหนึ่ง ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการประกอบกิจการชุมชนผ่านกองทุนหมู่บ้านทุกรูปแบบ เพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยความสามัคคี กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นการให้โอกาสให้พี่น้องประชาชนในระดับชุมชนได้เข้าถึงแหล่งทุนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เหนือสิ่งอื่นใดคือโอกาสที่ทำให้พี่น้องประชาชนหมดหนี้สินที่มีอยู่ โดยให้ความสำคัญกับเงินบาทแรกของแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ หากเศรษฐกิจฐานรากอยู่รอด คนมีกำลังซื้อ จะมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศให้เข้มแข็ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่กองทุนหมู่บ้านฯ กำลังดำเนินการในปัจจุบัน เพื่อให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ขอให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ มีการปรับตัวสู่การทำธุรกิจยุคใหม่ คือ ยุคดิจิทัล ที่จะมีส่วนช่วยในการขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน และสามารถสร้างรายได้เข้ากองทุนอย่างยั่งยืนได้อีกทางหนึ่ง
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำ รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้ประชาชนหมดนี้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นโยบายของกองทุนหมู่บ้านฯ คือ ต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานรากให้อยู่รอด โดยการทำงานเชิงรุกในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือชุมชน หวังว่ากองทุนหมู่บ้านทุกกองทุนในพื้นที่ภาคใต้จะสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติและขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลที่คาดหวังไว้ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้กองทุนหมู่บ้านประสบความสำเร็จ คือ ความตั้งใจ ความใส่ใจของพี่น้องสมาชิก ประกอบกับความเข้าใจในนโยบายรัฐบาล จะทำให้การบริหารงานกองทุนประสบความสำเร็จได้
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน