วันที่ 18 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” เพื่อชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 ของ (วช.) และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน (วช.) ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดการประชุม ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom รวมทั้งการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ เป็นวันที่เจ็ด การชี้แจงกรอบวิจัยและนวัตกรรมในปี 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ เป็นเรื่องของการพัฒนาในลักษณะ ของการ Can pass ให้กับนักวิจัย ตั้งแต่นักวิจัยรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และรุ่นอาวุโส ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องของบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม เรื่องของค่าใช้จ่ายเรื่องการวิจัยและนวัตกรรม
เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อการจัดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดี จะเห็นได้จากการจัดลำดับ ว่าประเทศไทยมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่วนตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน เรื่องค่าใช้จ่ายก็เป็นส่วนหนึ่งในการจัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ในเรื่องการส่งเสริมการสร้างบุคลากรการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา ตัวเลขจากการลงทุนจะสะท้อนในเรื่องของ GDP เรื่องการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะกระตุ้นเสริมการลงทุนและเศรษฐกิจการเดินหน้าของประเทศวิจัยและพัฒนาการสร้างบุคลากรทางการวิจัย นักวิจัย และกำลังคนมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ส่วนเป้าหมาย (วช.) ได้วางไว้ถึงปี 2570 ที่เพิ่มจำนวนบุคคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญที่มุ่งเน้นถึงสัดส่วน 40 คน ต่อประชากร 10,000 คน ในส่วนเรื่องเงินลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา RMD มุ่งสู่เป้าหมายให้ได้ ร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มูลค่ารวมในประเทศ หรือ GDP ซึ่งตรงนี้จะถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในแผน (ววน.) ของประเทศที่จะฉายภาพตั้งแต่ปี 2566 – ปี 2570 เป็นมาตรการ เป็นการกระตุ้น และเป็นการส่งเสริมในการให้ความสำคัญของภาครัฐในเรื่องดังกล่าว
อีกประเด็นที่มีความสำคัญคือในเรื่องการส่งเสริมและการสอดคล้องกับการมองในตัววัดผลสำเร็จในระดับชาติ ต่อเนื่องมาถึงแผนงานระดับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนแม่บท แผนปฎิรูปต่างๆ ต่อเนื่องมาจนถึงแผน (ววน.) มีความต่อเนื่องและเชื่อมโยงสะท้อนเป้าหมายในเรื่องบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งการที่จะพัฒนาในเรื่องการใช้ฐานการวิจัย เพื่อส่งเสริมให้กับผู้ที่มีศักยภาพสูง ส่งเสริมการเข้าสู่เส้นทางอาชีพความก้าวหน้าในด้านการเป็นนักวิจัย การเป็นนักวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีความตอบสนองต่อการวัดผลในระดับประเทศ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นการดำเนินงานตามเป้าหมายจะมีผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งหวัง เน้นในเรื่องการยกระดับการผลิต เน้นในเรื่องการพัฒนาบุคลากรและให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้าน (ววน.) โดยเฉพาะผู้ที่มีทักษะสูงให้มีจำนวนมากขึ้น เข้าสู่เส้นทางอาชีพ และมีความก้าวหน้าในสายอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม อันนี้ (วช.) ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ
นอกจากนี้ ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “ความสำคัญของการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย” โดย รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล,ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ,ศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล และ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ร่วมเสวนา และมี ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช เป็นผู้ดำเนินการเสวนาฯ และภาคบ่ายเป็นการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดย ศ.น.สพ.ดร.เผด็จ ธรรมรักษ์,ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา,ศ.ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล,ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ และ ดร.ธีรวัฒน์ นิธิอรรถวานนท์ ซึ่งกิจกรรม NRCT Open House2022 : ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ จะช่วยส่งเสริมให้นักวิจัยมีศักยภาพในเส้นทางอาชีพนักวิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับการเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม วช. จะเปิดรับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2565 โดยนักวิจัยต้องยืนยันการเข้าร่วมทำวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย ต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. การประกาศผลการพิจารณา (วช.) จะประกาศผ่านเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ https://nriis.go.th
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน