ชู การศึกษาผู้ใหญ่เป็นองค์ประกอบสำคัญ สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา เผยช่วยสนับสนุนให้ประชาชนมีความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อโลก
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เวลา 19.15 น. : นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมนำเสนอในการประชุมด้านการศึกษาผู้ใหญ่ ครั้งที่ 7 หรือ Seventh International Conference on Adult Education (CONFINTEA VII) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มิถุนายน 2565 ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) ทั้งการประชุมทางไกล ผ่านระบบ Zoom และการประชุมในสถานที่ ณ เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก โดยมี นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ,นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ,นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ และนางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ รองเลขาธิการ กศน.เข้าร่วมประชุม ที่ ห้องประชุมจันทรเกษม ซึ่งมีหลายประเทศร่วมนำเสนอ อาทิ ราชอาณาจักรโมร็อกโก,ไอเวอร์รีโคส,ญี่ปุ่น,สโลวีเนีย,เอกวาดอร์,อาร์เจนตินา และ สวีเดน เป็นต้น
นางกนกวรรณฯ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมช่วง Minister Panel หัวข้อ การประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินการด้านการศึกษาผู้ใหญ่ตามกรอบปฏิบัติการเบเล็ม ว่า ดิฉันมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมช่วง Minister Panel ทั้งยังขอชื่นชมราชอาณาจักรโมร็อกโก ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านการศึกษาผู้ใหญ่ ครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญ เพราะการศึกษาผู้ใหญ่มีบทบาทมากกว่าเมื่อก่อน ขอขอบคุณสถาบันด้านการศึกษาตลอดชีวิต (UNESCO Institute for Lifelong Learning–UIL) และยูเนสโก ที่สนับสนุนการจัดประชุมดังกล่าวมาโดยตลอด รวมทั้งได้เชิญประเทศไทยร่วมแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งเน้นไปยังกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมั่นใจได้ว่าการประชุมในช่วงนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนนโยบาย กำหนดกรอบการดำเนินงาน และกลไกเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ
รายงานระดับโลกด้านการศึกษาผู้ใหญ่ (Global Report on Adult Learning and Education–GRALE) ทั้ง 4 ฉบับที่ผ่านมา เราได้ตระหนักถึงประเด็นสำคัญ และสถานะด้านการศึกษาผู้ใหญ่ทั่วโลก ซึ่งดิฉัน ขอแสดงความยินดีกับ UIL ในการเปิดตัวรายงาน GRALE ฉบับที่ 5 และความมุ่งมั่นในการจะเผยแพร่รายงานฉบับใหม่นี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าการศึกษาผู้ใหญ่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา ที่สนับสนุนให้ประชาชนมีความเข้าใจ การเปลี่ยนแปลง สามารถเผชิญและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อโลก ซึ่งประเทศไทยเน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมคุณภาพของการศึกษาผู้ใหญ่ อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นหนึ่งในนโยบายปฏิบัติการเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือ quick win และการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพให้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง รวมไปถึงผู้ที่มีความต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
“ส่วนนโยบายการมีส่วนร่วมด้านการศึกษา (ศธ.) ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้พิการ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้ขับเคลื่อนทรัพยากรและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาผู้พิการที่ยังไม่เข้าถึงการศึกษา ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้าน ICT เพื่อสนับสนุนการติดตามผู้พิการทั่วประเทศ และพัฒนาโปรแกรม CAPER เพื่อค้นหาผู้พิการและจัดหารูปแบบการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทในท้องถิ่น รวมไปถึงโปรแกรมการศึกษาสำหรับบุคคล แผนการดำเนินงานสำหรับบุคคล การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนรู้เพื่อการอาชีพ ดิฉันได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการศึกษาในช่วงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไทยมีความพยายามที่จะพัฒนาการศึกษาเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในสังคม การศึกษาผู้ใหญ่จึงต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าและวิวัฒนาการเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21
ดิฉันในฐานะที่ดูแลเรื่องการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาผู้ใหญ่ และกำลังดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นให้กับทุกคน รวมถึงกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส ทั้งการเสริมสร้างทักษะ และเพิ่มทักษะให้เหมาะสมกับความต้องการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน และสุดท้ายนี้ขอขอบคุณผู้ร่วมจัดทำรายงาน GRALE ฉบับที่ 5 อีกครั้ง ซึ่งรายงานดังกล่าวจะเป็นแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัตินำไปใช้พัฒนาการศึกษาผู้ใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มเปราะบางต่อไป” นางกนกวรรณฯ กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน