ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา วิกิลีกส์เผยแพร่เอกสารลับ ร่างกรอบข้อตกลง
การเปิดตลาดเสรีภาคบริการซึ่งหลายประเทศกำลังเจราจานอกองค์การการค้าโลก
โดยการนำของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ร่างกรอบข้อตกลงดังกล่าว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า
Trade in Service Agreement (TISA) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขจัดข้อระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ภายในประเทศ
สมาชิก เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนและแข่งขันในส่วนของภาคบริการและมีสิทธิ
เทียบเท่านักลงทุนภายในประเทศ ซึ่งมีความเข้มข้นกว่าข้อตกลงภาคบริการภายใต้องค์การการค้าโลก
หรือ GATS ในขณะนี้มีเกือบ 50 ประเทศ เข้าร่วมการเจรจา โดยประเทศจีนและอุรุกวัย
ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมการเจรจา
หากการเจรจาครั้งนี้สำเร็จจะทำให้ประเทศสมาชิกทั้งหมด ต้องเปิดตลาดภาคบริการอย่างเต็มรูปแบบรวมถึง
ภาคการเงินการธนาคาร การสาธารณสุข การศึกษา การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ การสื่อสารและโทรคมนาคม
รวมทั้งแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการเหล่านั้นอยู่เพื่อเปิดทางให้เอกชน นอกจากนี้ ยังความเป็นไปได้
อย่างสูงที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกอื่น จะพยายามกดดันให้ประเทศที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก
เข้าร่วมเจรจาและนำข้อตกลงดังกล่าวนี้เข้าไปในองค์การการค้าโลก
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)
เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้ติดตามการเจรจาข้อตกลงนี้ และถึงแม้ว่าประเทศไทย ยังไม่ได้มีท่าทีจะเข้าร่วม
การเจรจาข้อตกลงฉบับดังกล่าว จากการศึกษาเอกสารดังกล่าว ทางกลุ่มขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย
แสดงท่าทีที่ชัดเจนที่จะไม่เข้าร่วมการเจรจา และเป็นสมาชิกของข้อตกลงฉบับนี้ เนื่องจากว่าจะมีผลโดยตรง
กับภาคบริการและการแข่งขันของนักลงทุนและรัฐวิสาหกิจของไทย นอกจากนี้แล้วอีกส่วนหนึ่งที่ต้องจับตา
มองคือในขณะนี้ไทยกำลังเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป และยังที่ผ่านมายังเคยแสดงเจตจำนงค์อยากเข้า
ร่วมเจรจาความตกลงข้ามแปซิฟิก (TPP) ที่สหรัฐฯเป็นประเทศหลักในการกุมทิศทางข้อตกลงอยู่
จึงมีความเป็นไปได้ที่สหภาพยุโรป หรือสหรัฐฯจะใช้เอฟทีเอ เป็นเครื่องมือในการกดดันไทยให้เข้า
ร่วมข้อตกลงดังกล่าว
“รัฐวิสาหกิจของไทยยังต้องปรับปรุงประสิทธิภาพอีกมาก แต่ต้องไม่ใช่ด้วยการแปรรูปไปเป็นของเอกชน
เพราะการบริการพื้นฐาน ประปา ไฟฟ้า สาธารณสุข รวมทั้งพลังงานควรเป็นไปเพื่อบริการประชาชน
ไม่ใช่ค้ากำไรสุดขั้ว”