วันที่ 7 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดโครงการการบูรณาการ การจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตใหม่ พร้อมด้วย ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.),ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นางพรศิวลักษณ์ ผิวสอาด ผู้อำนวยการกองแผนงานและสารสนเทศ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน,น.ส.จุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ,ผศ.ดร.วีณัฐ สกุลหอม คณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และนายพรชัย พิศาลสิษฐ์กุล นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) เข้าร่วมแถลงข่าว และมีผู้แทนหน่วยงาน ผู้แทนสมาคมทางการศึกษาเอกชนเข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ ห้องประชุมวิเวก ปางพุฒิพงศ์ ชั้น 2 อาคารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Panpage ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ กล่าวในพิธีแถลงข่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาของโรงเรียนเอกชนนอกระบบมาโดยตลอด ว่าเป็นการศึกษาทางเลือกที่มีคุณภาพ และมีจุดแข็งที่มาจากการจัดการศึกษาของภาคเอกชน มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น สามารถจัดการเรียนการสอนตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้อย่างทันท่วงที การศึกษานอกระบบเป็นการศึกษาที่ส่งเสริมผู้เรียนพัฒนาศักยภาพทุกช่วยวัย ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา จัดการศึกษาเพื่อเสริมทักษะและความพร้อมให้กับผู้เรียน ต่อยอด ทบทวน และเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการให้กับผู้เรียนในวัยเรียน เปิดกว้างให้ผู้เรียนได้เรียนตามแนวทางที่ตนสนใจทั้ง ดนตรี กีฬา สร้างเสริมทักษะทุกด้านซึ่งไม่เพียงเสริมความสามารถให้กับผู้เรียน แต่ยังผลักดันและต่อยอดให้ผู้เรียนมีโอกาสในการแข่งขันจนนำชื่อเสียงมายังประเทศไทย ในยุคที่ประเทศไทยเผชิญกับภาวะที่ยากลำบากจากปัญหาโรคติดเชื้อ Covid-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจ การศึกษานอกระบบสามารถสร้างวิชาชีพ ทำให้เกิดอาชีพ สร้างงาน ให้กับคนไทยที่ต้องการนำวิชาชีพนั้นมาเลี้ยงตนเอง หรือจะทำเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพใหม่ได้ด้วยการเรียนในระยะเวลาสั้นๆ แต่สามารถสร้างรายได้ ส่งผลต่อหารพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีเกิดประโยชน์แก่ประเทศทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ขอแสดงความชื่นชมสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่นำยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ ในยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาหลักสูตรกระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล มาขับเคลื่อนโครงการการบูรณาการการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะส่งเสริม สนับสนุน ให้นักเรียนโรงเรียนเอกชนนอกระบบได้รับความรู้ พัฒนาทักษะ ความสามารถของตนเองผ่านการแข่งขันแล้วยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งยิ่งขึ้นของภาคีเครือข่ายที่จะร่วม ขับเคลื่อนการศึกษานอกระบบให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย
“ตนขอขอบคุณภาคีเครือข่าย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรมพัฒนาฝืมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย)
คณะผู้บริหาร คณะกรรมการจัดงาน หน่วยงานเอกชนที่ให้การสนับสนุน ให้ความร่วมมือในการจัดงานในครั้งนี้ ขอให้การจัดกิจกรรมในครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ทุกประการ”
ด้าน ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของโรงเรียนเอกชนนอกระบบสู่วิถีชิวิตใหม่ (NEW NORMAL) พัฒนาทักษะความสามารถของ ผู้เรียน นักเรียนผ่านการแข่งขันได้อย่างเต็มศักยภาพ และบูรณาการการจัดการเรียนรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งประชาสัมพันธ์การแสดงผลงานการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนนอกระบบให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่
1) การจัดการแข่งขันทักษะวิชาชีพ วิชาการ ดนตรี ศิลปะ และ กีฬา เช่น การแข่งขันทักษะวิชาการวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ ทักษะวิชาชีพ ด้านเสริมสวยและความงาม ด้านบริบาล ด้านนวดไทยเพื่อสุภาพ ทักษะดนตรี และการแสดงศิลปะ เป็นต้น รวมถึง การเรียนรู้ โลกอาชีพ เช่น งานการบิน การท่องเที่ยวการจัดการโรงแรม งานด้านบริการบนเรือสำราญ อาชีพนักบินโดรนเพื่อการถ่ายภาพ นักบินโดรนเพื่อการเกษตร ตัดแต่งขนสุนัข นักมวย นักกอล์ฟมืออาชีพเป็นต้น โดยดำเนินการแข่งขันผ่านโปรแกรม Zoom Meeting และการบันทึกเป็น VDO แล้วส่งมาให้กรรมการตัดสิน ตั้งแต่วันที่ 11-18 มิถุนายน 2565
2) กิจกรรมเสวนาวิชาการ เรื่อง “บทบาทและศักยภาพของโรงเรียนเอกชนนอกระบบต่อการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน“ ในวันที่ 19 มิถุนายน 2565 และ
3) ในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 จะเป็นการจัดกิจกรรมงานแสดงและนิทรรศการความเป็นเลิศ (Best Practice) ของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ พร้อมทั้งพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
และสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) เพื่อร่วมมือกันบูรณาการการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบ ส่งเสริมและพัฒนากำลังคนคุณภาพ เพื่อการมีงานทำ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
นายพรชัย พิศาลสิษฐ์กุล นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้เข้าสมัครเข้าร่วมการแข่งขันแล้วจำนวน 1,600 คน ใน 7 ประเภทการแข่ง ซึ่งทั้ง 3 กิจกรรมนี้ สามารถติดตามรายละเอียดตารางการแข่งขัน และร่วมรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่าน Facebook Panpage ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนตลอดทั้งงาน (https://www.facebook.com/opecoffice)
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน