จีนเร่งแผนนโยบายพัฒนาภาคตะวันตก กระจายความเจริญสู่ดินแดนด้านในและเส้นทางสายไหม
ประโยชน์จากนโยบายยุทธศาสตร์พัฒนาภาคตะวันตกของจีน ที่จะทำให้เกิดการกระจายความเจริญมาสู่ดินแดนตอนใน ซึ่งรัฐบาลจีนมีแผนเร่งพัฒนาและสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ทางถนน ทางรถไฟ ฯลฯ รวมทั้งผลักดันให้มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) เป็นศูนย์กลางคมนาคมแบบครบวงจรในปี พ.ศ.๒๕๖๓ โดยมีนครเฉิงตูเป็นศูนย์กลางจุดเชื่อมโยงไปสู่เมืองในระดับภูมิภาค เพื่อเปิดช่องทางเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้านทางตอนล่างสู่อาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน โดยเฉพาะด้านการค้าชายแดนต่อเนื่องลงมาสู่ไทยที่เชื่อมต่อกับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) และไทยจะเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศในอาเซียน
ทั้งนี้ นครเฉิงตู ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศ สามารถเชื่อมโยงไปสู่เขตเศรษฐกิจสำคัญในแต่ละภูมิภาคของจีนและผ่านเอเชียกลางไปถึงยุโรป ดังนั้น หากมีการวางแนวทางการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระบบรางจากประเทศไทยในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนสู่นครเฉิงตูในฐานะที่เป็นศูนย์กลางภาคตะวันตกของจีนได้ ภายใต้กรอบโครงการตามข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” หรือ BRI (Belt and Road Initiative) จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยในระยะยาว กล่าวคือ
เส้นทางจากท่าเรือมาบตาพุด/ท่าเรือแหลมฉบัง-กรุงเทพฯ-เชียงของ-นครคุนหมิง-นครเฉิงตู รวมมีระยะทางประมาณ ๓,๐๙๔ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ วัน ๑๗ ชม. ๓๐ นาที (ไม่รวมเวลาที่ต้องเสียไปในกระบวนการขนส่ง หากรวมระยะเวลากระบวนการขนส่งสินค้าจะอยู่ที่ ๔-๕ วัน) ซึ่งเมื่อเทียบกับเส้นทางโลจิสติกส์ทางทะเลจากท่าเรือมาบตาพุด/ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือเมืองกว่างโจว (๕-๗ วัน) –นครเฉิงตู (ทางราง ๑-๒ วัน, ทางหลวง ๓-๔ วัน) ต้องใช้เวลานานถึง ๘-๑๑ วัน (รวมกระบวนการขนส่ง)
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์-นครคุนหมิง-นครเฉิงตู หากเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางสมบูรณ์ทั้งระบบ จะทำให้มีระยะทางประมาณ ๒,๔๘๓ กิโลเมตร และจะทำให้การเดินทางจากประเทศไทยสู่มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑๓ ชม. ๓๔ นาที หรือประมาณครึ่งวัน (ไม่รวมเวลาที่ต้องเสียไปในกระบวนการขนส่ง) ซึ่งหากเทียบกับการเดินทางจากกรุงเทพฯ-เชียงของ-คุนหมิง-เฉิงตู แบบเดิมจะใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔๑ ชม. ๓๐ นาที (ไม่รวมเวลาที่ต้องเสียไปในกระบวนการขนส่ง)
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.npc.gov.cn/zgrdw/npc/xinwen/2013-10/22/content_1810645.htm และเว็บไซต์ http://www.xinhuanet.com/2020-06/29/c_1126170352.htm )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
26/5/2022