บทความพิเศษ โดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในภาวะที่การศึกษาไทยประสบปัญหาและได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์โควิด ผลจากสงครามที่ทำให้เศรษฐกิจโลกสั่นเสทือน และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ในขณะที่คน generation ใหม่มีวิธีคิดและแนวทางการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไปจากเดิม ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อให้สามารถผ่านวิกฤติ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ให้ได้
การศึกษาเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด รวมทั้งช่วยประคับประคองสังคม และชี้นำประเทศชาติให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ด้วยเหตุนี้รัฐจึงได้จัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษา 2 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ โดยกฎหมายทั้งสองฉบับ จัดเป็นกฎหมายปฏิรูป กล่าวคือเป็นกลไกขับเคลื่อนในการพัฒนาและปฏิรูปประเทศ จึงกำหนดให้มีสมาชิกร่วมกันเป็นคณะกรรมาธิการทั้งสองสภา คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ด้วยความมุ่งหวังว่า กฎหมายทั้งสองฉบับจะได้รับการพิจารณาเห็นชอบ ประกาศใช้ นำไปสู่การพัฒนา ปรับเปลี่ยนการศึกษาไทยให้ก้าวสู่ความสำเร็จตามที่สังคมคาดหวัง
พรบ. การศึกษาแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยระบบการศึกษาในภาพใหญ่ โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และความเชื่อมโยงไปถึงอุดมศึกษา ชี้ภาพรวมของโครงสร้างการบริหารจัดการ บุคลากร ระบบงบประมาณ หลักสูตรและอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งดำเนินการควบคู่กัน คือพรบ. ส่งเสริมการเรียนรู้ มีความน่าสนใจในมิติของการปรับเปลี่ยนทิศทางการจัดการศึกษา และเปิดโอกาสให้สามารถดำเนินการในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์) เป็นประธานและมีสมาชิกของทั้งสองสภา รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ ได้ขับเคลื่อนการจัดทำกฎหมายดังกล่าวอย่างมุ่งมั่นเเละเป็นระบบ มีความหลากหลายในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ มีความทันสมัยและน่าจะนำไปสู่การพลิกโฉมการศึกษาไทย เป็นทางเลือกและทางรอดให้กับคนในสังคมได้ในอนาคต
หลักการหรือแนวคิดสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นถึงความพิเศษของกฎหมายฉบับนี้ มีหลายประการด้วยกัน
ประการแรก พรบ. ส่งเสริมการเรียนรู้ เกิดขึ้นจากมาตรา 54 วรรคสามประกอบกับมาตรา 258 จ.ด้านการศึกษา (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้ รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่าง รัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาโดยสร้างโอกาสให้ผู้ซึ่งอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน หรือผู้ซึ่งพ้นวัยที่จะศึกษาในโรงเรียน หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือทุรกันดาร มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง และพัฒนาศักยภาพ ทักษะ ความเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตนเอง
แนวคิดสำคัญซึ่งทำให้กฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายและกระบวนการทำงานที่หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น คือ นอกจากการศึกษาในระบบที่ พรบ. การศึกษาแห่งชาติได้กำหนดไว้ ส่วนใดที่อยู่นอกเหนือจากนั้นได้ถูกกำหนดไว้ใน พรบ. ส่งเสริมการเรียนรู้เเทบทั้งสิ้น ได้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานไว้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมในทุกด้าน กล่าวคือให้รูปแบบของการศึกษาประกอบด้วย 1)การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2)การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และ 3)การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ
การเรียนรู้ตลอดชีวิต จัดให้มีเพื่อให้บุคคลทุกช่วงวัยได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ในสิ่งที่ตนสนใจ หรือตามความถนัด เป็นการศึกษาเพื่อสร้างความรู้ของเเต่ละบุคคลและนำไปสู่การสร้างสังคม ให้เป็นสังคมเเห่งการเรียนรู้
การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพ ทักษะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตามความสนใจ หรือตามความถนัดของตนเพื่อการประกอบอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชน หรือสังคม
การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ มีเป้าหมายเพื่อจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่อยู่ในวัยเรียน แต่ไม่ได้รับการศึกษาในสถานศึกษา หรือผู้ที่พ้นวัยที่จะศึกษา อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ในต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนเพื่อให้ได้รับการศึกษาที่สูงกว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามศักยภาพของผู้เรียน
กระบวนการจัดการศึกษาดังกล่าว ยังหมายรวมไปถึงการสนับสนุนการเรียนรู้ หรือระบบการศึกษาใน”รูปแบบอื่น” ที่จะก่อประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งสอดรับกับทิศทางการจัดการศึกษาในอนาคต ที่รูปแบบการศึกษาอาจเปลี่ยนแปลงไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งไม่มีใครสามารถคาดเดาได้
แนวคิดสำคัญประการต่อไปคือ เนื่องจากโดยนัย ที่ถูกกำหนดไว้ภายใต้กฎหมายนี้ การเรียนรู้ที่จัดขึ้นจะต้องตอบสนองคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กตั้งเเต่เเรกเกิดหรือปฐมวัย ระดับประถม มัธยม อาชีวศึกษา และอาชีพ การศึกษาสำหรับวัยเเรงงาน และผู้สูงวัย จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการจัดการเรียนรู้ ตั้งเเต่เเรกเกิดถึงเชิงตะกอน ไม่อาจจัดได้โดยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานหนึ่ง หรือมอบเป็นภาระให้กรมการศึกษานอกโรงเรียน หรือกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย การจัด การศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับ น่าจะเป็นหน้าที่หลักที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ ภายใต้รูปแบบ โครงสร้างการบริหารและวิธีการดำเนินการแบบเดิม หรือพัฒนาให้มีความคล่องตัวมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะเดียวกันจำเป็นจะต้องมี การสนับสนุน ให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ซึ่งจัดโดยปราชญ์ชาวบ้าน สถานศึกษาของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรท้องถิ่น รวมทั้งการจัดการศึกษาที่มีวิธีการหลากหลายผ่านระบบปกติ online และสื่อ multimedia ซึ่งผู้เรียนสามารถเก็บความรู้ หรือนับเวลาเรียนมาเทียบ เป็นหน่วยกิต ด้วยระบบเครดิตแบงค์ และเมื่อครบจำนวนตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ก็สามารถได้รับวุฒิบัตร หรือประกาศนียบัตรรับรองเพื่อศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น หรือใช้ในการทำงาน ทั้งนี้จะต้องสามารถเชื่อมโยงได้ทั้งในระหว่างการศึกษาทุกประเภท ทุกระดับ และทุกหน่วยงาน ซึ่งการจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร หรืออุปกรณ์ในการจัดการศึกษา ทั้งนี้อาจใช้ระบบงบประมาณแบบเดิมของรัฐ หรือองค์กรท้องถิ่น รวมทั้งอาจจะมีการจัดการในลักษณะของ PPP (Public Private Partnership) เช่นมอบช่องสัญญาณโทรทัศน์เพื่อการศึกษาบางช่วงเวลาให้เอกชนใช้เพื่อจัดรายการด้านการศึกษาหรือสารคดี โดยมีผลตอบแทนกลับคืนมาสู่ภาครัฐในอัตราส่วนที่เหมาะสม หรือจ้างเอกชนมาบริหารศูนย์วิทยาศาสตร์ในบางส่วนงาน การลงทุนศูนย์ฝึกอาชีพของ (กศน.) กับสถาบันอุดมศึกษาหรือภาคเอกชน การเปิดให้เช่าสถานที่จัดกิจกรรมในห้องสมุดเป็นต้น ในส่วนของ”การส่งเสริม”เป็นการเน้นไปที่การจัดการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อสร้างเเละเติมเต็มความรู้ให้กับประชาชน ซึ่งนอกจากแหล่งเรียนรู้ในสังกัด (กศน.) แล้ว ยังมีแหล่งเรียนรู้ต่างๆซึ่งมีอยู่แล้วอย่างหลากหลายในสังคม เช่นสถานีโทรทัศน์ วิทยุ พิพิธภัณฑ์ สถาบันเสริมทักษะ ห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ของท้องถิ่น เเหล่งเรียนรู้ของปราชญ์ท้องถิ่น ศิลปิน ภูมิปัญญาชาวบ้าน กรมการศึกษานอกโรงเรียนเพียงเข้าไปช่วยกระตุ้น ยกย่อง ให้รางวัล ให้แหล่งเรียนรู้ของภาคราชการ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเหล่านี้ ได้พัฒนาเพื่อสร้างโอกาสให้คนได้เข้าถึงความรู้ที่หลากหลาย โดยอาจดำเนินการในรูปแบบของการประกวดผลงาน ยกย่องแหล่งเรียนรู้ ยกย่องภูมิปัญญาดีเด่น เป็นต้น
การจัดการศึกษาไทยจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนและพลิกโฉมครั้งใหญ่ “พรบ.ส่งเสริมการเรียนรู้” อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ขาดโอกาสหรือผู้ที่ไม่พึงพอใจต่อระบบการศึกษาปกติที่รัฐจัดให้ แต่เห็นว่าความรู้นั้นมีหลากหลาย ทั้งในสถานศึกษา แหล่งเรียนรู้หรือแม้แต่ในสื่อมัลติมีเดียต่างๆ ทางเลือกนี้จึงอาจจะเป็น ทางเลือกที่เหมาะสมและทันสมัย เหมาะกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันอาจจะเป็นทางรอดอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือผู้ที่มีความ ต้องพัฒนาตนเองให้สามารถประกอบอาชีพที่หลากหลายได้มากขึ้นเพื่อการมีรายได้สำหรับดำรงชีวิตและเลี้ยงดูครอบครัว ที่สำคัญที่สุดหากการศึกษาภายใต้ระบบที่กำลังจัดให้มีขึ้นนี้ เป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ก็น่าจะเป็นทางรอดของสังคมไทยในการก้าวผ่านจากสังคมเเบบเดิมๆที่เป็นอยู่ ไปสู่การเป็นสังคมอุดมปัญญาในอนาคต
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน