ในบริเวณวัดเสาธงทอง (วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ปัจจุบันเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ) มีโบราณสถานที่ควรชมหลายแห่ง เช่น พระวิหารซึ่งเดิมคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาอื่นเพราะจากแผนที่ของช่างชาวฝรั่งเศสทำไว้ระบุว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่พำนักของราชทูตชาวเปอร์เซีย พระวิหารหลังนี้อาจเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามของชาวเปอร์เซียก็เป็นได้ นอกจากนี้ ก็มี ตึกปิจู ตึกคชสาร (หรือตึกโคโรซาน) เป็นตึกเก่าแก่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่พำนักอาศัยของแขกเมืองและราชทูตเปอร์เซีย และฝรั่งเศส สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่พำนักของแขกเมือง และราชทูตต่างประเทศชาวเปอร์เซีย โดยตึกปิจู มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า เล็ก ซึ่งอาจเป็นที่อาศัยของชาวฝรั่งเศสที่มารับราชการ ส่วนตึกโคโรซาน (ซึ่งเป็นชื่อเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของเปอร์เซีย) สันนิษฐานว่าเป็นตึกที่ใช้รับรองชาวเปอร์เซียที่มาพำนัก (กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙)
เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ท่านพระครูลวลพบุรีคณาจารย์ (เนียม ภุมมสโร) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง (ซึ่งต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระสังฆภารวาหมุนี ดำรงตำแหน่งผู้กำกับคณะสงฆ์จังหวัดลพบุรี) ได้เป็นองค์ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนประจำเมืองลพบุรีขึ้น ชื่อว่า โรงเรียนประจำเมืองลพบุรี วัดเสาธงทอง (ปัจจุบันพัฒนาเป็นโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย) ครั้งแรกที่วัดเสาธงทอง ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยใช้ตึกคชสาร (หรือโคโรซาน) เป็นที่เรียนโดยมีนักเรียนครั้งแรก ๑๘ คน ต่อมามีนักเรียนมากขึ้นได้สร้างสถานที่เรียนด้านทิศเหนือตึกปิจูในวัดเสาธงทองเป็นที่เรียน โดยมีนักเรียนประมาณ ๑๕๐ คน (ตึกทั้งสองใช้เป็นที่พักและที่ทำงานของครู)
ข้อมูล : รศ.ดร.กาสัก เต๊ะขันหมาก
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ไพรัตน์ ทองแก้ว
ศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ