ไทย-จีน ต่อการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA)
การพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ต่อการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA) ของไทยที่ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เพื่อยกระดับให้เป็นพื้นที่ลงทุนด้านการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล โดยการผลักดันความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่าในมณฑลยูนนานของจีน กล่าวคือ
ควรมีการนำเสนออุตสาหกรรมที่ทั้งไทยและจีนมีความชำนาญ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยวซึ่งไทยมีความถนัด หรือการคมนาคมและโลจิสติกส์ซึ่งจีนมีความถนัด อันจะทำให้เกิดการพัฒนาบนความสมดุล และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมทั้งก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย-จีน
ทั้งนี้ จากการเดินทางด้วยรถยนต์โดยใช้เส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) ซึ่งจะต้องเดินทางออกจากจีนที่ด่านโม่ฮาน (บ่อหาน) ของอำเภอเหมิ่งล่าในจีน ผ่านด่านบ่อเต็นของลาว และออกจากด่านห้วยทรายของลาว เข้าด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นระยะทาง ๒๕๐ กม. โดยใช้เวลาเดินทางเพียง ๔ – ๕ ชม. หรือหากขนส่งสินค้าทางน้ำก็จะออกจากอำเภอเหมิ่งล่าที่ด่านกวนเหล่ย โดยล่องไปตามแม่น้ำโขง ถึงด่านเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นระยะทาง ๓๖๐ กม. จะใช้เวลาเดินทาง ๑ – ๓ วัน ซึ่งถือเป็นเส้นทางจากด่านชายแดนจีนถึงด่านชายแดนไทยที่สั้นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางบกหรือทางน้ำ
ดังนั้น การพัฒนาของอำเภอเหมิ่งล่าภายใต้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของจีน จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือของไทยให้เป็นประตูการค้าสู่มณฑลทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนของเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงรายแบบบูรณาการกิจกรรมหลัก ด้วยการยกระดับการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การเตรียมความพร้อมในการเสริมทักษะการท่องเที่ยว การให้บริการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาอาหาร และการตลาดเชิงรุกที่สอดคล้องกับยุค New Normal และการเปลี่ยนแปลงในยุค Next Normal ฯลฯ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงรายที่ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R3A ที่เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน ด้านตะวันตก เป็นต้น
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.bangkokbiznews.com/politics/1002705 และเว็บไซต์ http://bndaily.com/c/2019-10-05/105193.shtml )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
21/5/2022