เส้นทางสายไหม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ผลประโยชน์มหาศาล
ข้อพิจารณาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ร่วมจากข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) กล่าวคือ
๑. เป้าหมาย ความร่วมมือที่ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันและความเจริญรุ่งเรืองและเป็นเส้นทางไปสู่ความสงบสุขและมิตรภาพ โดยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันและความไว้วางใจรวมทั้งการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนอย่างรอบด้าน ผ่านทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกาโดยเชื่อมโยงกันเป็นวงกลมเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลสำคัญ ๒ ประการ คือ
๑.๑ การเชื่อมโยงเอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันตก แอฟริกาเหนือ และยุโรปเข้าด้วยกัน เพื่อให้ภูมิภาคเหล่านี้ได้แลกเปลี่ยนและสร้างประโยชน์ร่วมกัน ในการสร้างห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่ธุรกิจ ห่วงโซ่คุณค่า และการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ และช่องทางการขนส่งคมนาคมที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง เพื่อประโยชน์สำหรับการพัฒนาประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลและพื้นที่ทุรกันดาร
๑.๒ ยึดถือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานและเป็นแกนหลัก พร้อมทั้งยึดถือการแลกเปลี่ยนบุคคลและวัฒนธรรมเป็นตัวหนุนสำคัญ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศในภูมิภาค
๒. แนวทางในการดำเนินการ โดยจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือ ที่ประกอบด้วย (๑) การประสานงานด้านนโยบาย (๒) การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อ (๓) การขจัดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้า (๔) การเสริมสร้างความร่วมมือการควบคุมทางการเงินแบบบูรณาการ (๕) การสร้างความสัมพันธ์จากประชาชนสู่ประชาชน
๓. เครื่องมือ ใช้กลไกของความร่วมมือ โดยเสริมสร้างความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ผ่านกลไกที่มีอยู่เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) อาเซียนกับจีน (๑๐+๑) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APEC) และการประชุมเอเชียกับยุโรป (ASEM หรือ อาเซม ) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของฟอรั่มระหว่างประเทศและการจัดนิทรรศการในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค เช่น Boao ฟอรั่ม เป็นต้น
๔. ผลที่จะได้รับ การเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ทั้งเส้นทางบกและเส้นทางทะเล ผ่านระเบียงเศรษฐกิจ ๖ ระเบียง อันได้แก่ (๑) ระเบียงเศรษฐกิจยูเรเชียใหม่ ที่เริ่มต้นจากท่าเรือเหลียนหยุนกังในมณฑลเจียงซู สิ้นสุดที่เมืองรอตเทอร์ดามในยุโรปตะวันตก เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางถนนจากจีนสู่ยุโรป (๒) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและถนน ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ เส้นทาง คือ จากปักกิ่ง/เทียนสิน/เหอเป่ย์ ผ่านมองโกเลีย ในเพื่อไปรัสเซีย และ จากเมืองต้าเหลียนของจีนไปยังเมืองชีตาของรัสเซีย (๓) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก เป็นเส้นทางสําคัญในการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากคาบสมุทรอาหรับ ตุรกี และอิหร่าน เพื่อส่งไปยังเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (๔) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน เป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ําจูเจียง (Pan-Pearl River Delta: PPRD) กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS (๕) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน เป็นเส้นทางที่เชื่อมจีน กับเอเชียใต้ และสามารถเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง ซึ่งสะดวกกว่าอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา (๖) ระเบียงเศรษฐกิจบังคลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา เป็นเส้นทางเชื่อมเอเชียใต้ ที่สำคัญคือสามารถเชื่อมกับรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย ซึ่งเป็น ประตูเข้าสู่ตลาดของอินเดีย
ทั้งนี้ อาเซียนจะมีโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมากจากการใช้ประโยชน์จากระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน เพื่อเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (PPRD) หรือ “ความร่วมมือ ๙+๒” ซึ่งประกอบด้วย ๙ มณฑล คือ กวางตุ้ง ฝูเจี้ยน เจียงซี กุ้ยโจว เสฉวน ยูนนาน หูหนาน ไห่หนาน และเขต ปกครองตนเองกวางสี รวมกับเขตปกครองพิเศษอีก ๒ แห่ง คือ ฮ่องกงและมาเก๊า
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
(ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.imsilkroad.com/news/p/455272.html )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
19/5/2022