นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ในการประชุมผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับรายงานกรณีที่เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประสานติดต่อประชาชนเพื่อให้มาพบและให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการสอบสวนคดีพิเศษคดีหนึ่ง แต่เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นคนร้ายของแก๊ง Call Center จนต้องใช้เวลาในการสื่อสารทำความเข้าใจ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565 (วันหยุดราชการ วันพืชมงคล)
ที่ผ่านมา ยังมีผู้เสียหายจำนวนหนึ่งหลงเชื่อเดินทางมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามคำหลอกลวงของคนร้ายแก๊ง Call Center และพบว่าบางรายมีการทำธุรกรรมโอนเงินให้กับคนร้ายต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากอีกด้วย
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเน้นย้ำวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อีกครั้งหนึ่งดังนี้
1.เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่มีการติดต่อประชาชนและขอข้อมูลหรือแจ้งให้ประชาชนทำธุรกรรมทางการเงิน หรือโอนเงินด้วยการพูดคุยทางโทรศัพท์อย่างแน่นอน
2.ในการปฏิบัติงานจริง เจ้าหน้าที่จะมีหนังสือราชการติดต่อไปยังประชาชนก่อน โดยจะแจ้งเหตุผล และนัดหมายให้มาพบที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสถานที่ราชการอื่นๆ ตามวัน เวลา ราชการ ซึ่งหากเป็นแก๊ง Call Center จะยากที่จะมีหนังสือติดต่อดังกล่าวก่อน เนื่องจากจะเป็นการเสียเวลาและส่วนใหญ่ แก๊ง Call Center จะใช้การสุ่มโทรศัพท์ตามหมายเลขต่างๆ โดยไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับที่สถานที่อยู่ของผู้ที่โทรศัพท์ติดต่อ
ดังนั้น กรณีอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้สอบถามถึงหนังสือที่เจ้าหน้าที่มีถึงท่านเพื่อตรวจสอบว่าเป็นผู้ประสานงานจริงหรือไม่ ซึ่งคนร้ายจะไม่มีหนังสือดังกล่าว และกรณีที่ท่านมีข้อสงสัยว่าหนังสือที่ท่านได้รับเป็นหนังสือราชการของกรมสอบสวนคดีพิเศษจริงหรือไม่ สามารถติดต่อ ได้ที่สายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร.1202 ฟรีทั่วประเทศ ในวัน เวลาราชการ โดยเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ จะโอนสายโทรศัพท์ให้ท่านตรวจสอบกับหน่วยงานเจ้าของหนังสือได้โดยตรง
ทั้งนี้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ศูนย์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ จัดทำระบบตรวจยืนยันย้อนกลับ เป็น QR CODE บันทึกลงในเอกสารราชการของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ส่งถึงประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐสามารถสแกนและตรวจสอบกลับมายืนยันกับเอกสารต้นฉบับที่อยู่ในระบบของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ “QR CODE จะลดโอกาสที่คนร้ายจะใช้ช่องทางหนังสือราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษในการหลอกลวงประชาชน และจะเป็นการสร้างเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามวิสัยทัศน์กรมสอบสวนคดีพิเศษ คือ เป็นองค์กรชั้นนำด้านการสืบสวนสอบสวนที่มีมาตรฐานในระดับสากล และได้รับความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม” นายไตรยฤทธิ์ฯ กล่าว ทั้งนี้ เมื่อมีการพัฒนาระบบ QR CODE เสร็จสิ้นแล้ว จะทำการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ฝากถึงกลุ่มคนไทยที่เป็นแก๊ง Call Center โดยการเป็นเครื่องมือของคนต่างชาติมาหลอกลวงคนไทยด้วยกันว่าขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว เพราะผู้ที่เสียหายอาจเป็นบุคคลในครอบครัว และท่านยังอาจถูกดำเนินคดีและยึดทรัพย์
สำหรับผู้มีข้อมูลหรือเบาะแสในเรื่องดังกล่าว สามารถส่งข้อมูลได้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่ 128 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 หมายเลขโทรศัพท์ 02 8319888 เว็บไซต์ www.dsi.go.th หรือโทรสายด่วน 1202 โดยจะเก็บรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน