(10 พ.ค.65 )จากกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีหนังสือเมื่อวันที่ 15 มี.ค.65 ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้อำนาจตามกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินสั่งหักกลบลบหนี้คดีค่าโง่คลองด่าน กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ. 241-242/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 139 – 140/2565 ระหว่างบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม 5 คน ผู้ร้อง กรมควบคุมมลพิษ ผู้คัดค้าน และกระทรวงการคลัง ผู้ร้องขอพิจารณาคดีใหม่ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.65ให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินให้กลุ่มบริษัทผู้รับเหมา โดยขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กรมควบคุมมลพิษระงับการจ่ายเงินตามคำพิพากษาของศาล และให้เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ มีหน้าที่เรียกร้องให้ผู้รับเหมาชดใช้ค่าเสียหายไม่น้อยกว่า 23,000 ล้านบาท ถ้าไม่ชดใช้ก็จะต้องฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย และกรมควบคุมมลพิษมีสิทธิ์ที่จะหักกลบลบหนี้จากค่าเสียหายดังกล่าวกับจำนวนเงินที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาจำนวน 4,500 ล้านบาท ผู้รับเหมาจะต้องชำระเงินส่วนที่เหลือแก่กรมควบคุมมลพิษไม่น้อยกว่า 13,400 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี หากกรมควบคุมมลพิษไม่ดำเนินการตามนี้ จึงเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องสั่งการให้มีการดำเนินการยกเลิกหรือระงับการดำเนินการใดๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐนั้น
ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้ทำหนังสือชี้แจงเรื่องนี้ต่อนายวัชระคือ
- ภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกคำร้อง เมื่อวันที่ 7 มี.ค.65 ขอให้พิจารณาคดีใหม่ และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องให้แก่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม 5 คน กรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.65 กรมควบคุมมลพิษได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอน กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามข้อ 7 ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมิได้หยิบยกเนื้อหาข้อเท็จจริง ในคำพิพากษา ของศาลฎีกาที่ 8064/2560 (คดีฉ้อโกง) ว่า จำเลยที่ 2-19 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงให้โจทก์เข้าทำสัญญาโครงการฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 จึงมีผลผูกพันกับผู้ร้องและผู้คัดค้านในคดีปกครองด้วย ตามนัยมาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งศาลปกครองสูงสุดจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วด้วย ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดคลาดเคลื่อนในประเด็นสำคัญของคดีในกระบวนการ พิจารณาพิพากษาทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม จึงเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง ประกอบมาตรา 5
จากนั้นเมื่อวันที่ 25 มี.ค.65 กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมธนารักษ์ และกรมป่าไม้ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่บุกรุกที่ดินของรัฐจนกว่าคดีจะถึงที่สุด พร้อมเรียกค่าเสียหายด้วย
ขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 มี.ค.65 มายังกรมควบคุมมลพิษ แจ้งสถานะคดีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดำเนินคดีกับกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว พร้อมจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กรมควบคุมมลพิษทราบ โดยมีผลการดำเนินการคืออายัดสิทธิเรียกร้องที่กรมควบคุมมลพิษจ่ายให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ในงวดที่ 2 และ3 โดยศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 ส.ค.54 ให้อายัดสิทธิเรียกร้องที่กรมควบคุมมลพิษต้องชำระให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ในงวดที่ 2และ3 ขณะนี้อยู่ระหว่างจำหน่ายคดีเพื่อรอฟังผลคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว สำนักงานปปง.จะยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าวต่อไป
สำหรับการอายัดเงินงวดแรกที่กรมควบคุมมลพิษจ่ายให้แก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) โดยมีคดีถึงที่สุด จำนวน 2 คดี ได้แก่
- คำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 10ส.ค.64 ให้ทรัพย์สินคือเงินในบัญชีเงินฝากของนายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ 1 บัญชี จำนวนกว่า72ล้านบาท และเงินในบัญชี เงินฝากของ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ 1 บัญชี จำนวน 50 ล้านบาท รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 122 ล้านบาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตามพรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (5)ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทั้งนี้ นายสังวรณ์เคยเป็นกก.ผจก.ของบริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด ผู้ร้องที่ 3 ในคดีนี้ และ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ เคยเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด ผู้ร้องที่ 3 ในคดีนี้ และยังมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้เงินจำนวนกว่า 3 แสนบาท พร้อมดอกผลในบัญชีเงินฝากของบริษัท คลาสสิคคลาส คอนสตรัคชั่น จำกัด ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นเงินงวดที่ 1 ที่กรมควบคุมมลพิษได้ชำระให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) หลังจากนั้น กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ได้โอนให้บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด เป็นเงินจำนวน กว่า 560 ล้านบาท และบริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด ได้โอนให้บริษัท คลาสสิคคลาส คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นเงินจำนวนกว่า 4ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีคดีที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้คืนทรัพย์สินบางส่วนแก่เจ้าหนี้ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย.65 กรมควบคุมมลพิษได้มีหนังสือด่วนที่สุด ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำ ที่ อ. 241- 242/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 139-140/2565 ที่ถึงที่สุดแล้วขัดแย้งกัน ตามมาตรา 14แห่งพรบ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษ ไม่อาจปฏิบัติตามหมายแจ้งคำบังคับของศาลปกครองกลางได้
จากนั้น เมื่อวันที่ 11 เม.ย.65 กรมควบคุมมลพิษได้ยื่นคำร้องของดการบังคับคดีไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลปกครอง และรอผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลด้วย
สำหรับประเด็นการเรียกค่าเสียหายจากกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐนั้น เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 62 กรมควบคุมมลพิษโดยพนักงานอัยการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก รวม 16 ราย เป็นเงินจำนวนกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดในโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อศาลแพ่ง ขณะนี้เป็นคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง
ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นคดีมหากาพย์มหาโกง ทำให้รัฐ- ประชาชนเสียหายอย่างมหาศาล ขอให้กำลังใจทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษได้รักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างเต็มความสามารถในการสู้คดีเพื่อให้เงินที่เป็นภาษีของประชาชนกลับคืนมาเป็นเงินของแผ่นดินต่อไป