แพทย์ดังออกมาเตือน ยาเออร์กอต สำหรับรักษาผู้ป่วยไมเกรน อันตรายหากไม่ปรึกษาแพทย์ก่อนทาน เสี่ยงติดเชื้อ ตัดมือแขนขา อาจลามไปส่วนอื่นของร่างกาย และอาจถึงขั้นเสียชีวิต
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงยาเออร์กอต หรือ ยาเออร์โกตามีน (Ergotamine) หรือยาชื่อการค้าที่มักรู้จัก คือ ยาคาเฟอร์กอท (Cafergot ) ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ว่า ยาเออร์กอตมีฤทธิ์รุนแรงและอันตรายจริง แต่ที่เห็นวางขายอยู่ตามร้านขายยาต่างๆ ได้ตามปกติ เพราะหากใช้อย่างถูกวิธีจะไม่เป็นอันตรายใดๆ เพียงแต่ผู้ป่วยหลังได้รับยาเออร์กอตจากแพทย์แล้ว อาจไปซื้อเองในภายหลัง หรือเภสัชกรเองอาจไม่สามารถทราบถึงประวัติการรักษาของผู้ป่วยได้โดยละเอียด จึงขายยาตัวนี้ให้ผู้ป่วยไป
ยาเออร์กอต อันตราย หากใช้คู่กับยาตัวอื่น และใช้มาก หรือเป็นเวลานานเกินไป
ยาเออร์กอต ถือเป็นยาโบราณที่มีการใช้กันในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 30-40 ปีแล้ว ใช้แก้ปวดเฉียบพลันสำหรับผู้ป่วยโรคไมเกรน และตามข้อบ่งชี้ของตัวยาบอกว่า สามารถใช้ได้ถึง 6-8 เม็ดต่อวัน แต่ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบาย อยากให้คนไทยเข้าใจกันใหม่ว่า คนที่สามารถบริโภคได้จำนวนขนาดนั้น ต้องเป็นคนที่ร่างกายปกติ 100% จริงๆ กล่าวคือ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือความผิดปกติของร่างกายอื่นๆ อีกเลย ถึงจะไม่ได้รับผลข้างเคียงใดๆ
ฤทธิ์ของยาเออร์กอต
ยาเออร์กอตมีฤทธิ์ช่วยให้เส้นเลือดหดตัว และส่งสารสื่อประสาทไปยังสมอง เพื่อลดอาการปวดศีรษะ เพราะผู้ป่วยโรคไมเกรนจะมีอาการปวดศีรษะมากกว่าปกติ อันเนื่องมาจากเส้นเลือดขยายตัว แต่ถึงกระนั้นผู้ป่วยไมเกรนจะรับรู้ถึงความรู้สึกปวดมากกว่าคนอื่น กล่าวคือแม้เส้นเลือดจะขยายเท่ากัน แต่ในคนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคไมเกรนอาจรู้สึกถึงอาการปวดน้อยกว่าผู้ป่วยไมเกรน
อันตรายของยาเออร์กอต เมื่อใช้ร่วมกับยาตัวอื่น
ยาเออร์กอตจะเข้าไปเสริมฤทธิ์ของยาตัวอื่น ทวีความรุนแรงของยาตัวอื่นให้มากขึ้น เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้า หรือยาบรรเทาอาการพาร์กินสัน หากใช้ร่วมกับยาเออร์กอต จะส่งผลให้สมองหลังสารที่ชื่อว่า เซโรโทนิน มากเกินไป (จริงๆ แล้วหากสมองหลั่งสารชนืดนี้ในปริมาณที่พอดี จะช่วยบรรเทาความตึงเครียด บรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าได้) และทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น กระวนกระวาย ซึม ชัก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หรือถึงขั้นหัวใจวาย
ในทางกลับกัน ยาตัวอื่นที่ใช้ร่วมกับยาเออร์กอต ยังทำให้การทำงานของตับด้อยประสิทธิภาพลง ตับกำจัดยาเออร์กอตออกไปจากร่างกายได้น้อยลง ทำให้มีตัวยาเออร์กอตเหลืออยู่ในร่างกายในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ (หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน)
นอกจากนี้ยาเออร์กอตมีฤทธิ์ช่วยทำให้เส้นเลือดหดตัว แต่มันไม่ได้หดตัวแค่เส้นเลือดที่สมอง รวมไปถึงเส้นเลือดตามอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายด้วย เช่น หัวใจ เป็นต้น เมื่อใช้ร่วมกับยาที่ทวีความรุนแรงของตัวยาทั้งสอง จะทำให้อวัยวะบางส่วนในร่างกายขาดการลำเลียงของเลือด เช่น แขนขาเขียว ปวด และหากยังไม่ได้รับยาหรือการรักษาที่ทำให้เส้นเลือดขยายตัวได้ทันท่วงที อาจทำให้เซลส์ของอวัยวะนั้นๆ ดำ ตายได้ ต้องตัดแขนขาส่วนนั้นทิ้ง หรือหากเส้นเลือดในสมอง เส้นเลือดหัวใจตีบก็อาจเสียชีวิตได้
โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณยาเออร์กอตที่รับประทาน และการทำงานของตับของแต่ละคน ว่ามีประสิทธิภายในการขับยาเออร์กอตออกจากร่างกายได้มากน้อยแต่ไหน หากตับเองก็ทำงานได้ไม่ดี มีปริมาณยาเออร์กอตอยู่ในร่างกายเยอะ ความรุนแรงและรวดเร็วของอาการนี้ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
โรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงจากยาเออร์กอต
– โรคอ้วน เบาหวาน
– ความดันสูง
– เส้นเลือดหัวใจตีบ
– พาร์กินสัน
– โรคหัวใจ
– โรคซึมเศร้า
– ผู้ติดเชื้อ HIV
– หญิงมีครรภ์
– อื่นๆ
ยาเออร์กอต ห้ามใช้ร่วมกับยาตัวใดบ้าง
– ยาต้านโรคซึมเศร้า
– ยาแก้ปวด (Tramadol Pentazocine)
– ยาแก้ไอ (Dextromethophan)
– บาบรรเทาอาการพาร์กินสัน
– ยาแก้หวัดคัดจมูก (Pseudoephedrine)
– ยาลดความดันบางชนิด
– ยาแก้เจ็บคอบางชนิด
– ยาต้านไวรัส HIV (Protease inhibitor)
– ยาฆ่าเชื้อราชนิดทาน
– ยาฆ่าเชื้อในกลุ่ม Macrolide เช่น Clarithromycin
– ยาชุดเถื่อน ที่รวมเอายาหลายๆ ตัวที่อันตรายกับเออร์กอตเอาไว้ด้วยกัน
– ยาอื่นๆ อีกรวมทั้งสิ้น 572 ตัว
นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังในการทานยาเออร์กอตกับน้ำเกรปฟรุต และส้มโอด้วย
อาการของผลข้างเคียงจากการรับยาเออร์กอต
ขึ้นอยู่กับยาที่ทานคู่กับยาเออร์กอต เพราะอาการจะปรากฏตามความรุนแรงของยาตัวนั้นๆ เช่น
– ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาทรรเทาอาการโรคพาร์กินสัน อาจมีอาการกระวนกระวาย กล้ามเนื้อเกร็ง หรือหัวใจวาย
– หญิงมีครรภ์ อาจทำให้มดลูกบีบเกร็ง จนอาจแท้งบุตร
– ยาฆ่าเชื้อราในช่องคลอด ยาต้านไวรัส HIV และยาตัวอื่นๆ อาจมีอาการเส้นเลือดตีบตัน เลือดไม่หล่อเลี้ยงที่แขนขา จนติดเชื้อ
– เส้นเลือดในสมอง หรือหัวใจตีบ
– อาการปวดไมเกรนอาจจะกลับมาถี่ หรือบ่อยมากขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นไมเกรนเรื้อรัง
– อื่นๆ
วิธีใช้ยาเออร์กอตอย่างปลอดภัย
– ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
– แจ้งโรคประจำตัว และยาที่ใช้อยู่กับเภสัชกรอย่างละเอียด
– ใช้เมื่อมีอาการปวดไมเกรนเท่านั้น ไม่ใช้เป็นยาประจำที่ทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
– ผู้ป่วยที่มีโรค หรืออาการเกี่ยวกับเส้นเลือด ควรหลีกเลี่ยง
– เลือกยาแก้ปวดตัวอื่น ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเออร์กอต เช่น ทริปแทน
– ต้องไม่อยู่ในช่วงที่ทานยาตัวอื่นๆ อยู่