(8 พ.ค.65)นายวัชระ เพขรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ยื่นร้องเรียนต่อพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กรณีการควบรวมกิจการบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) กับบริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) เพื่อขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทุกฉบับอย่างเคร่งครัด โดยไม่ให้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 15 ก.พ.65 ได้มีมติรับเรื่องไว้พิจารณา เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่
ล่าสุดพล.อ.อนันตพร มีหนังสือแจ้งมายังนายวัชระว่า
คณะกรรมาธิการฯได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ โดยเชิญเลขาธิการกสทช.และเลขาธิการกขค.มาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการควบรวมกิจการของ 2 บริษัทดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 เม.ย.65 ได้ผลสรุปการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ พร้อมกับประเด็นข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมาธิการฯ คือ อำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อการกำกับดูแลการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เดิมประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจไว้เป็นลักษณะของการต้องขออนุญาตก่อนการรวมกิจการ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย หลักที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เหมาะสมกับสภาพตลาดและอำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อให้เกิดประโยชน์การแข่งขันและเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ กสทช. จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบ หลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยการออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งเปลี่ยนมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจเป็นลักษณะของการแจ้ง รายละเอียดการรวมธุรกิจและผลกระทบของการรวมธุรกิจต่อสำนักงาน กสทช. เพื่อทราบ แล้ว กสทช. อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ ซึ่งการดำเนินงานของ กสทช. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนคือ แต่งตั้งคณะทำงานติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบการรวมธุรกิจ กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัท และศึกษาผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ รวมถึงนำเสนอแนวทางการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัท เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 65 เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ รวมถึง แนวทางการกำกับดูแลและการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่เหมาะสม ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานอัยการการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการศึกษา เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระดับของการแข่งขันในอุตสาหกรรมหลังเกิดการรวมธุรกิจ และการศึกษาเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขในการรวมธุรกิจเพื่อให้บริษัทที่จะเกิดขึ้นใหม่จากการรวมธุรกิจต้องปฏิบัติตาม เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาและอาจนำไปกำหนดเป็นเงื่อนไขของการรวมธุรกิจต่อไป หากไม่มีการปฏิบัติตาม จะเป็นไปตามกฎหมายในการบังคับทางปกครอง ซึ่งท้ายสุดจะเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของบริษัทที่เกี่ยวข้องได้
ส่วนข้อชี้แจงของสำนักงาน กขค.ระบุว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องนี้ เนื่องด้วยบริษัททั้ง 2 มีธุรกิจหลักอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า ทำให้ กขค. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแลกรณีดังกล่าว อันเป็นไปตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (4) และถึงแม้ทั้ง 2 บริษัทจะมีธุรกิจอื่น ๆ ที่ประกอบอยู่ด้วย แต่ก็เป็นเพียงธุรกิจย่อยที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักซึ่งการควบรวมไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในกิจการเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กขค. ได้ส่งตัวแทนไปเป็นอนุกรรมการฯ ที่ กสทช. ศึกษารายละเอียดและผลกระทบของการรวมธุรกิจ และพิจารณาเงื่อนไขของการรวมธุรกิจ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ กสทช. พิจารณาต่อไป
ด้านประเด็นข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมาธิการฯคือ
ได้เสนอแนะให้ กสทช. ทบทวนกฎระเบียบเกี่ยวกับการรวมธุรกิจ ให้เป็นไปตามหลักการสากลและหลักกฎหมายแข่งขันทางการค้า และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและหลักเศรษฐศาสตร์ การยอมให้เกิดผู้ที่ผูกขาด (Monopoly) หรือ ผู้มีอำนาจเหนือตลาด (Significant Market Power: SMP) แล้วค่อยออกมาตรการกำกับดูแล จะทำได้ยาก สิ้นเปลืองทรัพยากร ไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผล และทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอันมีจำกัด อาทิ คลื่นความถี่อย่างไม่คุ้มค่า ดังนั้น ตามหลักการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมสากลและหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย รัฐควรมีอำนาจในการหยุดยั้งการรวมธุรกิจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผู้ที่ผูกขาด หรืออำนาจเหนือตลาดตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการฯ ได้กำชับให้ กสทช. ศึกษาผลกระทบของการรวมธุรกิจ โดยเฉพาะผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคและการแข่งขันของตลาดในอนาคตอย่างละเอียดรอบคอบ และ กสทช. ต้องกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขของการรวมธุรกิจที่เข้มงวดและเหมาะสม
นายวัชระ กล่าวย้ำว่า หากกสทช.ฝ่าฝืนอนุมัติให้มีการควบรวมทรู-ดีแทค ตนจะหารือดร.เกษม ศุภสิทธิ์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพัทยา เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางให้เป็นคดีตัวอย่างต่อไป