“แบงก์ชาติ” เผยเศรษฐกิจไตรมาส 3 โตเกินคาด ผลจากการส่งออกที่ฟื้นตัว ขณะการใช้จ่ายภาครัฐดีต่อเนื่อง มองแนวโน้มส่งออกมีสัญญาณบวกต่อเนื่อง
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นบ้างในบางธุรกิจ สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังหนุนให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ถือว่าเติบโตได้ต่อเนื่อง และดีกว่าที่ ธปท. ได้คาดการณ์เอาไว้ โดยเฉพาะผลจากการส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาส3 ที่ออกมาดีเกินคาด
นอกจากนี้ การบริโภคในไตรมาส 3 ยังออกมาดีกว่าที่ ธปท. ได้คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งเดิมที ธปท. คาดว่าการบริโภคในไตรมาสดังกล่าวอาจชะลอลงบ้าง หลังจากที่เติบโตได้ค่อนข้างดีในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ผลกระทบจากการท่องเที่ยว ก็ไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ
“แนวโน้มการส่งออก เท่าที่เราดูปัจจัยซึ่งมีผลต่อตัวเลขในไตรมาส 3 แล้ว เชื่อว่าจะยังมีอยู่ในไตรมาส 4 ดังนั้นสัญญาณที่ดีนี้น่าจะยังมีต่อเนื่อง แต่อาจยังไม่สามารถมองข้ามไปถึงปีหน้าได้ เพราะต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติม”
-ส่งออกเริ่มโตกระจาย
นางรุ่ง กล่าวว่า การส่งออกเดือนก.ย.ขยายตัวได้ 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากหักทองคำออกจะขยายตัวได้ 3.9% ซึ่งการส่งออกที่เติบโตในเดือนนี้เริ่มกระจายตัวในหลายหมวดสินค้ามากขึ้น อีกทั้งการเติบโตเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นทำให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันหดตัวน้อยลง ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยหนุนในเรื่องของฐานที่อยู่ระดับต่ำในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม หากตัดเรื่องของฐานสินค้าบางตัวที่อยู่ระดับต่ำแล้ว หลายหมวดสินค้าเริ่มมีอุปสงค์ที่ดีขึ้น เช่น หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการส่งออกคอมเพรสเซอร์ที่ทำได้ดี เช่นเดียวกับการส่งออกปริ้นเตอร์ที่เติบโตต่อเนื่อง
นางรุ่ง กล่าวว่า การส่งออกที่ขยายตัวดี ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) ในเดือนก.ย.ขยายตัวได้ 0.6%
-นำเข้าเดือนก.ย.เริ่มฟื้น
สำหรับการนำเข้าในเดือนก.ย.ขยายตัว 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากไม่นับทองคำจะขยายตัวได้ 0.3% เป็นผลจากการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า ทั้งหมวดสินค้าทุนที่ขยายตัวตามการนำเข้าหม้อแปลงและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
สอดคล้องกับการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง และการนำเข้าเครื่องจักรในอุตฯอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่การส่งออกมีแนวโน้มปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เพิ่มขึ้นตามการผลิตสินค้าดังกล่าว
-ลงทุนเอกชนยังทรงตัว
ส่วนการลงทุนภาคเอกชน โดยรวมยังทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีทิศทางปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อนตามการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก
นอกจากนี้ การลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทน ยังคงมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับผลดีจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโดยรวมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนเพราะแม้ภาครัฐ มีการลงทุนต่อเนื่อง ทำให้เกิดการก่อสร้างของภาคเอกชนตามมา แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวเนื่องจากอุปสงค์ต่ำลงหลังจากหมดมาตรการภาครัฐ
-ท่องเที่ยวโดนผลกระทบน้อย
สำหรับภาคการท่องเที่ยว เดือนก.ย.ยังขยายตัวต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเติบโต 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากฐานที่ต่ำจากเหตุระเบิดในกรุงเทพช่วงเดือนส.ค.2558
อย่างไรก็ตาม เมื่อขจัดผลของฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง 2.1% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นผลจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญเป็นสำคัญ
นางรุ่ง กล่าวว่า ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ในเดือนก.ย.อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามราคาน้ำมันในประเทศ ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ระดับต่ำ โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารและอิเล็กทรอนิกส์
ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลต่อเนื่อง จากดุลการค้าตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้ายังอยู่ระดับต่ำ ช่วยชดเชยการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลตามรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง ประกอบกับเป็นรอบการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติในไทย
สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากการชำระคืนเงินกู้ในเครือ รวมทั้งการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทยและการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนไทย แต่มีเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดหุ้นต่อเนื่อง
-เอฟดีไอไหลออกจากคืนหนี้
ส่วนเงินลงทุนโดยตรงจากผู้ลงทุนต่างประเทศ(เอฟดีไอ) ในเดือนก.ย. มีการไหลออกสุทธิ 2,043 ล้านดอลลาร์ สาเหตุสำคัญมาจากธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศแห่งหนึ่ง ชำระคืนเงินกู้ยืมที่ยืมมาจากบริษัทลูกในต่างประเทศ
“ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ มีบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่เปลี่ยนมือจากคนต่างชาติมาเป็นคนไทย ซึ่งจริงๆ เราน่าจะเห็นตัวเลขเอฟดีไอติดลบตั้งแต่ช่วงนั้น แต่บริษัทที่มาซื้อกิจการได้นำเงินกู้จากต่างประเทศในเครือเข้ามา จึงนับเป็นเอฟดีไอ หลังจากนั้น บริษัทนี้ก็ระดมทุนไปคืนหนี้บริษัทลูกในต่างประเทศในช่วงไตรมาส 3 โดยเฉพาะเดือนก.ย. ทำให้ตัวเลขเอฟดีไอเดือนนี้เป็นเงินไหลออก
Cr: กรุงเทพธุรกิจ