อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เผยแพร่ภาพการขุดค้นทางโบราณคดี พบโครงกระดูกสุนัขซึ่งถูกฝังร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ คาดอายุราว 2,000 ปี
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เฟซบุ๊ก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดเผยข้อมูลและภาพถ่ายเกี่ยวกับการขุดค้นทางโบราณคดีประจำปีงบประมาณ 2559 ซึ่งพบหลักฐานโครงกระดูก จำนวน 5 โครง ภาชนะดินเผา สิ่งของเครื่องใช้ และที่น่าสนใจคือ โครงกระดูกสุนัขซึ่งถูกฝังร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ ซึ่งถูกนำฟันเขี้ยวขากรรไกรล่างขวาของตัวอย่างโครงกระดูกมนุษย์ที่พบ ไปวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาค่าอายุ โดยวิธี AMS ได้ค่าอายุ 1,730 (-+ 30 BP.) ปีมาแล้ว นับเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่พบแสดงถึงพิธีกรรมการฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ของกลุ่มคนที่เข้ามาใช้พื้นที่และตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองศรีเทพในระยะแรกๆ ส่วนรายละเอียดขณะนี้ทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ยังไม่เปิดเผยแต่อย่างใด
ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองศรีเทพจากเวปไซต์กรมศิลปากร ระบุว่า พื้นที่ที่มีการตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยเนื่องจากปรากฎร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่งหรือทั้งสองประการ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่าง ต่อเนื่องมาจนเท่าถึงปัจจุบัน
สำหรับชื่อเรียก “ศรีเทพ” เป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2447