ในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายแห่งความสำเร็จ พร้อมจำลองเหตุการณ์ให้ นบส.ศธ. รุ่น 12 ทั้ง 6 กลุ่ม ร่วมระดมความคิดเห็น สางปัญหา อุปสรรค สร้าง “ยิ้มสุข” CITY
วันที่ 27 เมษายน 2565 เวลา 18.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ แก่ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ (นบส.ศธ.) รุ่นที่ 12 ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยมี ดร.วรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมคณะ และมีเจ้าหน้าที่ บุคลากร จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน ร่วมรับฟังการบรรยายพร้อมทำกิจกรรมและร่วมให้การต้อนรับ
รมช.ศึกษาธิการ บรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า ครูโอ๊ะรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาบรรยายในวันนี้ การทำงานของครูโอ๊ะ จะเน้นการรับฟังสภาพปัญหาและเสียงสะท้อนต่างๆ ก่อนนำมาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและประเทศชาติ การบรรยายในวันนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านแผนภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของครูโอ๊ะ ที่รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆและนำมาประยุกต์ใช้ ดังนั้นจึงต้องการนำ รูปแบบพุทธบูรณาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของบุคลากร ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกศาสนา เพราะอิทธิบาท 4 คือ หลักพระพุทธศาสนา หากมองลึกลงไปจะพบว่า ฉันทะ การมีใจรัก วิริยะ การพากเพียรทำ จิตตะ ติดตามตรวจสอบ วิมังสา รอบคอบ แก้ไข ประยุกต์ใช้ สามารถใช้ได้กับทุกรูปแบบในการทำงาน การทำงานครูโอ๊ะเลือกที่จะยึดหลักอิทธิบาทธรรม เพราะการกำกับดูแลงานนั้น ต้องดูแลงานที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ โดยใช้คน กศน.เป็นผู้ขับเคลื่อนงาน แต่ คน กศน.ไม่ได้เชี่ยวชาญในทุกเรื่อง ต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากภาคีเครือข่ายที่ดี (Good Partnership) ซึ่งถือมีความสำคัญมาก และอยู่ในนโยบาย “กศน.WOW (6G)” ของครูโอ๊ะ ทั้งยังมีในส่วนของ Good Teacher ที่ต้องมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ให้ทันต่อทุกเหตุการณ์ เพราะ กศน.คือ คนพันธุ์พิเศษ
“ในส่วนของการเป็นผู้บริหารนั้น นโยบายการบริหาร ลักษณะงานที่รับผิดชอบ ความสัมพันธ์เพื่อนร่วมงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน โอกาสความก้าวหน้า ขวัญกำลังใจ ทัศนคติต่อการทำงาน ที่เมื่อพูดถึงหลักการวิจัย และเมื่อประยุกต์องค์ความรู้ออกมาก็ได้มีการนำไปบูรณาการกับหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้ก่อเกิดประสิทธิภาพในการทำงาน หากมีการบริหารจัดการดี ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า มีธรรมาภิบาล ทำงานเป็นทีม ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีซึ่งจำเป็นกับทุกคน มีการกำกับติดตาม นำสู่เป้าหมาย จากนั้นต้องมีหลักแห่งความรอบรู้ รู้เข้าใจ เพราะผู้เข้าอบรมทุกท่านต้องเข้าใจในงานที่รับผิดชอบ ทั้งยังต้องเข้าใจงานให้ดีที่สุด ใช้เทคโนโลยี มีระบบพี่เลี้ยงซึ่งต้องมีโค้ชชิ่ง (Coaching) สำหรับให้คำปรึกษาเพื่อให้บรรลุความสำเร็จ มีการบูรณาการ การทำงานร่วมกัน ผสานความร่วมมือ คือให้ทุกคนในหน่วยงานใช้หัวใจและความจริงใจ มีความอดทน อ่อนน้อมถ่อมตน และยึดถือทักษะ ให้งานบรรลุเป้าหมายแห่งความสำเร็จ
มุ่งสู่ทักษะ วิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อรู้เท่าทันถึงสิ่งที่เกิดขึ้น สร้างสรรค์เครื่องมือ โดยรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ยึดถือความสัมพันธ์ ดูแลทุกข์สุขของลูกน้องซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นพลวัตที่คนไทยแตกต่างจากชาติอื่น ทั้งยังต้องมุ่งมั่นศึกษา พัฒนาความรู้ ซึ่งผู้เข้าอบรมในวันนี้ถือเป็นผู้ที่มีความใฝ่พัฒนาในตัวเอง แต่เมื่อเป็นผู้นำก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกน้อง โดยใช้ธรรมะบูรณาการ ขับเคลื่อนการพัฒนา ศึกษากิจกรรม เพราะการทำกิจกรรมต้องมีทั้งจุดเด่นและจุดที่ต้องแก้ไข แต่ที่สำคัญคือ เราได้นำมาประยุกต์ใช้มากน้อยแค่ไหน และทุกคนก็ผ่านพื้นฐาน PDCA แต่สิ่งที่แตกต่างกับอิทธิบาทธรรมคือ PDCA ไม่ได้พูดถึงการนำไปประยุกต์ใช้อย่างชัดเจน เหมือนอิทธิบาทธรรม อีกสิ่งที่สำคัญคือการมีความสุขใจในการทำงาน เพราะหากไม่มีความสุขก็ไม่อยากทำงาน โดยนำพุทธบูรณาการ มาสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นหัวใจที่ครูโอ๊ะต้องการนำมาสู่ทุกคน เพื่อที่เรามี ศีล สมาธิ และปัญญานำมาใช้ในการทำงาน มุ่งสู่เป้าหมายของงาน ซึ่งทุกศาสนาสามารถน้อมนำไปปรับใช้เป็นหลักในการใช้ชีวิต และเป็นหลักสู่ความสำเร็จ
ขอบคุณผู้เข้าอบรม นบส.ศธ. รุ่นที่ 12 ทุกท่าน ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในครั้งนี้จากหัวใจครูโอ๊ะ ทุกท่านมีความสามารถพร้อมที่จะพัฒนาไปด้วยกัน ทุกคนคือกระทรวงศึกษาธิการ มองเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาการศึกษา สิ่งใดที่เป็นอัตถประโยชน์ ขอน้อมถวายเป็นพุทธบูชา และขอกราบอารธนาสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายในสากลโลก หลวงพ่อวัดไร่ขิงที่เมตตาพวกเรา ศธ. ขอให้คุณความดีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านนับถือได้โปรดดลบันดาลอภิบาลรักษาให้ทุกท่านมีความสุขเพิ่มมากขึ้น มีความเจริญในหน้าที่การงาน มีความเจริญในวิถีชีวิต เราจะมาช่วยกันทำความดีให้สมกับที่เป็นผู้นำให้สมกับเป็นข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดี แคล้วคาดจากภัยพิบัติทั้งปวง รักกันตลอดไป ”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ทั้งนี้ รมช.ศธ.ได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง 6 กลุ่ม ได้ร่วมระดมความคิดเห็น ในการแก้ปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อทำให้ “ยิ้มสุข” CITY กลับมามีความสุขสมกับชื่อ “ยิ้มสุข” CITY ซึ่งทั้ง 6 กลุ่มร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาและต่อยอดต่อไป ทั้งนี้ รมช.ศธ.ยังฝาก ให้ ผู้เข้าร่วมอบรม นบส.ศธ. รุ่นที่ 12 ร่วมกันแสดงความคิดเห็นกับ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. เพื่อทำให้เกิดความั่นคงทางการศึกษาด้วย
นอกจากนี้ รมช.ศธ.ได้เปิดโอกาสให้ ดร.วรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ.ได้รายงานผลการลงพื้นที่สุ่มการตามนการขับเคลื่อนนโยบาย 12 คณะ ของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.ให้กับผู้เข้าอบรมหลักสูตร นบส.ศธ. รุ่นที่ 12 ได้รับฟังด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน