(24 เม.ย.65)นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สำนักงานป.ป.ช.แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามที่ได้เคยร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้องให้ดำเนินคดีกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ถูกร้องที่1 และ พันตำรวจเอกประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ถูกร้องที่ 2 ว่าใช้ดุลพินิจ ทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดีกล่าวหานายจตุพร พรหมพันธุ์ กับพวกว่าร่วมกันปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2554 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (คดีพิเศษที่ 53/2554) โดยมิชอบ ซึ่งมีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีและเป็นประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ ในขณะนั้น ต่อมามีการส่งเรื่องมาให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 44 และระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ.2561 ข้อ 45(1) โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบมาตรา 83, 46 ในคดีดังกล่าวจริง เนื่องจากเห็นว่าแม้นายจตุพร พรหมพันธุ์ จะกล่าวถ้อยคำบางคำที่มีความหมายโดยนัยถึงพระมหากษัตริย์ และพระราชินี หรือใช้คำศัพท์ที่ใช้กับพระมหากษัตริย์จริง แต่การพิจารณาว่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ ต้องพิจารณาคำพูดของนายจตุพร พรหมพันธุ์ โดยรวมทั้งบริบท มิใช่พิจารณาจากถ้อยคำใดโดยเฉพาะ รวมถึงต้องพิจารณาบุคคลที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ต้องการกล่าวถึง เพื่อทราบความหมายของถ้อยคำและเจตนาในการกระทำ โดยเห็นว่าขณะเกิดเหตุเป็นการชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ที่ทหารใช้กำลังสลายการชุมนุมและมีประชาชนเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมากในวันที่ 10 เมษายน 2553 และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้กล่าวถ้อยคำดังกล่าว เพื่อเท้าความถึงสิ่งที่ตนเคยกล่าวเตือนฝ่ายรัฐบาลในครั้งก่อนว่าอย่าเอาทหารรักษาพระองค์ และทหารเสือราชินี มาเกี่ยวข้องในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ประชาชนบางส่วนเข้าใจผิดว่าพระมหากษัตริย์ และพระราชินีมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งก่อนหน้าวันเกิดเหตุนายจตุพร พรหมพันธุ์ เคยปราศรัยด้วยถ้อยคำลักษณะเดียวกันนี้หลายครั้ง โดยในคดีดังกล่าวได้มีการรวบรวบพยานหลักฐานทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษแก่ผู้ต้องหาในคดี โดยปรากฏคำให้การของพยานบุคคลทั้งฝ่ายที่เห็นว่าการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวเป็นความผิด และฝ่ายที่เห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวไม่เป็นความผิด รวมอยู่สำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าว ทำให้พนักงานอัยการทราบข้อเท็จจริงและความเห็นที่แตกต่างกันของพยานบุคคลทั้งสองฝ่ายดังที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนก่อนมีคำสั่งในสำนวนดังกล่าว ซึ่งในคดีดังกล่าวนั้น พนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีตามความเห็นของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าว เป็นการรับรองและกลั่นกรองความชอบด้วยกฎหมายในการรวบรวมพยานหลักฐานในการสอบสวนรวมถึงการใช้ดุลพินิจทำความเห็นสั่งคดีของผู้ถูกกล่าวหาและคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามกระบวนการ ตามกฎหมายแล้ว การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ทำความเห็นดังกล่าว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจในการทำความเห็นสั่งคดีตามอำนาจหน้าที่ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานหรือพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาชัดเจนเพียงพอ ที่จะดำเนินการไต่สวนต่อไปได้
นายวัชระ กล่าวว่า เคารพต่อมติของป.ป.ช.แต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลา 11 ปีกว่าจะได้คำตอบ ถือว่าใช้เวลานานเกินไปหรือไม่ จึงอยากให้ปรับปรุงระยะเวลาในการทำงานให้เร็วขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ อย่างไร หรือมีข่าวลือว่าต้องทำตามใบสั่งทางการเมืองนั้นจริงหรือไม่
2.ในบางคดีป.ป.ช.เร่งรัดอย่างรวดเร็วเช่นคดีร้องจริยธรรม น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ครอบครองที่สปก.แต่คดีจริยธรรมบางคดีเช่นคดีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กรณีคลัสเตอร์โควิด-19 ที่จ.สุโขทัย หรือคดีครอบครองที่สปก.ของนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ เหตุใดปปช.จึงพิจารณาล่าช้าผิดปกติวิสัยเป็นอย่างยิ่ง
3.ป.ป.ช.เร่งรัดเอาผิดแต่นายกอบต.บ้านนอกหรือข้าราชการชั้นผู้น้อยในต่างจังหวัด แต่คดีหัวหน้าส่วนราชการใหญ่ๆ เช่น นายสรศักดิ์ เพียรเวช อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรใช้รถยนต์หลวง ป.ป.ช.กลับส่งไปให้ส่วนราชการสอบสวนกันเอง ทั้งๆที่เป็นเรื่องร้ายแรง หากเป็นข้าราชการอื่นๆใช้รถยนต์หลวงป.ป.ช.ตัดสินลงโทษไล่ออกจากราชการไปแล้ว จึงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีมาตรฐานในการทำงานของป.ป.ช.ใช่หรือไม่