“สำนักงานราชบัณฑิตยสภา” ร่วมกับ “เนคเทค” จัดทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยฯ ๒๕๕๔ ในรูปแบบออนไลน์ สืบค้นง่ายขึ้นผ่านเว็บไซต์ราชบัณฑิตยฯ
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ออนไลน์ สำหรับใช้งานผ่านเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา http://www.royin.go.th/
สำหรับพจนานุกรมฉบับออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำ “ราชบัณฑิตยฯ แอปพลิเคชัน” ซึ่ง น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา เผยว่าก่อนหน้านี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้จัดทำแอปพลิเคชัน “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔” และแอปพลิเคชัน “อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” สำหรับใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟน ซึ่งได้รับความสนใจและดาวน์โหลดไปใช้งานจากประชาชนจำนวนมาก
น.ส.กนกวลี ระบุว่า การพัฒนาข้อมูลทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ในรูปแบบแอปพลิเคชั่นนั้น เป็นสิ่งที่ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้เล็งเห็นความสำคัญ และเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลวิชาการได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สามารถใช้งานพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยค้นหาคำศัพท์ที่ต้องการได้ทั้งตัวอักษรตั้งต้นหรือตามหมวดตัวอักษร ซึ่งผลของการค้นคำจะปรากฏข้อมูลของชนิดของคำ ความหมาย ที่มาของคำ คำเชื่อมโยง ฯลฯ ส่วนการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการเสนอคำศัพท์ใหม่ ผู้ใช้ต้องสมัครเป็นสมาชิกของระบบก่อนจึงจะเข้าแสดงความคิดเห็นได้
นอกจากนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา และ เนคเทค ยังได้ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน “ชื่อบ้านนามเมือง” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวงในต่างประเทศ แสดงชื่อเป็นภาษาต่างประเทศและชื่อที่เขียนเป็นภาษาไทย กว่า 1,500 แห่ง และชื่อเขตการปกครองในประเทศ แสดงชื่อเป็นภาษาไทยและชื่อที่เขียนโดยการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันกว่า 8,400 แห่ง
ผู้สนใจแอปพลิเคชันชื่อบ้านนามเมืองสามารถดาวน์โหลดใช้งานบนสมาร์ทโฟนทั้งระบบแอนดรอยด์ (Android) และระบบไอโอเอส (iOS) เวอร์ชัน 8 ขึ้นไป โดยค้นคำว่า ราชบัณฑิตยสภา, Royal Society หรือ ชื่อบ้านนามเมือง |