ฐากูร โกมารกุล ณ นคร เรื่อง
ธีระพงษ์ พลรักษ์ ภาพ
ระหว่างไต่เลาะขึ้นสู่ภูเขา ผืนดินในหุบดอยคล้ายพรมสีเขียว ข้าวและพืชเศรษฐกิจเบื้องล่างหลอมรวมกับบ้านเรือน สายน้ำเปิดโลกกลางขุนเขาให้พริ้งเพริดสำหรับผู้รอนแรมยาวไกลขึ้นมาสัมผัส ถนนยังคงวกวนและชันดิ่งไปในขุนเขาแห่งอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เปิดเผยพื้นที่เกษตรกรรมในยามฝนโปรย ภูเขา ณ ยามนี้คล้ายภาพวาดสีน้ำ แสนเขียวชื่น เย็นตา
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1181 ที่เราใช้ขึ้นมาจากอำเภอบ่อเกลือ พาเรามาสิ้นสุดตรงหมู่บ้านชาวลัวะเล็ก ๆ เบื้องหน้าที่ทอดยาววางกั้นคือทิวดอยเขียวครึ้ม ซึ่งมีแผ่นของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอยู่อีกฟากฝั่ง ชายแดนคล้ายละลายหายเมื่อเราพาตัวเองเข้าสู่ความเป็นขุนเขา บ้านเรือนรายทางตามแนวเนิน คือพี่น้องไทยภูเขาชาวลัวะ ที่ในอดีตไม่เกิน 50 ปี มันคล้ายดินแดนที่เป็นเหมือนบ้านทางความคิดและอุดมการณ์ เคยห่มคลุมด้วยชีวิตแร้นแค้น ความรู้สึกทดทับเอารัดเอาเปรียบ รวมไปถึงการต่อสู้แสวงหาชีวิตที่ดีกว่า
วันที่เหตุผลไม่ได้อยู่แค่ใครผิดถูก เราขึ้นไปถึงหมู่บ้านสามสี่กลุ่มบนทิวดอยขุนน้ำน่าน กลางชีวิตดงดอยผ่านพ้น หากหลับตาแล้วโยนเรื่องราวของวันวานทั้งไป ภาพตรงหน้าคล้ายเมืองในนิทาน สุขสงบ เรียบง่าย มากไปด้วยเรื่องเล่าอันเก่าแก่ และชัดเจนอยู่ซึ่งหนทางสะท้อนความเป็นตัวตน จนเมื่อใครสักคนตรงนั้นทำให้เราเชื่อว่า ชีวิตอาจคล้ายพืชพรรณ มีรากเหง้า กิ่งก้าน และดอกผล มีรวดร้าวและแย้มยิ้มผสมผสานอยู่อย่างจริงแท้
และก็คล้ายจะบอกว่าหมู่บ้านเล็ก ๆ กลางดอยงดงามของพวกเขานั้นมีอยู่จริง ใช่เพียงล่องลอยแต่ในความใฝ่ฝัน
1. เหนือความสูงบริเวณบ้านเวร ข้าวดอยเพิ่งปักกล้า เปลี่ยนผ่านฤดูแล้งและภาพชินตาของเขาหัวโล้นไปสู่รื่นเขียว ทางลาดยางที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อสายนั้นกำลังได้รับการเยียวยา มันพาเรายกตัวขึ้นไปเหนือผืนราบและนาข้าวที่ราวกับจุดเช็กพอยนต์ของคนผ่านทางแถบบ่อเกลือกับเฉลิมพระเกียรติ ที่ราบสีเขียวผืนเล็ก ๆ ตรงหน้าเต็มไปด้วยกล้าข้าวแทงยอดไล่ระดับไปตามสันดอย
เราค่อย ๆ เพิ่มกำลังเครื่องของรถชรา บ่ายหน้าขึ้นไปเป็นหนึ่งเดียวกับทิวดอยขุนน้ำน่าน รายทางเต็มไปด้วยแปลงข้าวโพดต้นฤดูเพาะปลูก รวมไปถึงมองไกลไปยังผืนป่าที่หลงเหลือจากการถากถางเพื่อเกษตรกรรมทำกินในอดีต ฤดูฝนกลืนผสมให้มันกลายเป็นภาพชื่นตาอันเต็มไปด้วยการจัดการอันทับช้อนของคนบนดอยหลายกลุ่ม ปฏิเสธได้ยากว่ามันคือความงดงาม เราเข้าใกล้หมู่บ้านบนดอยขึ้นไปทุกที ภาพพาโนรามาของขุนเขาห่มหมอกฝนกระจ่างตา บ้านเรือนสามสี่หย่อมกระจุกตัวคล้ายกลุ่มสีบนผืนผ้าใบสีเขียว ยอดภูแวเสียดสูงขึ้นไปลิบลิ่ว
เรามาถึงบ้านของพวกเขา พี่น้องชาวลัวะแห่งบ้านสะจุก เหนือถนนที่ตัดผ่านไปบนสันเขาเรียงรายด้วยบ้านเรือนอันแข็งแรงมั่นคง ใครสักคนว่ามันช่างแตกต่างจากอดีตกว่า 50 ปี ที่คนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาต้องพบเผชิญ
กล่าวสำหรับบรรพบุรุษของพวกเขา ชีวิตกสิกรรมตามป่าเขาค่อยผสมผสานกับวัฒนธรรมความเชื่อที่ติดตัวมา ผู้คนชาวลัวะกระจายกันตั้งถิ่นฐานตามภูเขาขอบแดนไทย-ลาว ว่ากันว่าการปักหลักอยู่บนพื้นที่แถบน้ำว้าตอนต้นของชาวลัวะแต่โบราณ อาจเป็นที่มาของชื่อ “น้ำว้า” ที่หลายคนเรียกขาน บางสายทางวิชาการเรียกพวกเขาว่าชาว “ถิ่น” ซึ่งแยกย่อยแตกพ่ายหนีการสู้รบภายในช่วงแผ่นดินลาวแถบไซยะบุลีเข้าสู่แดนดอยล้านนาตะวันออก ราวปี พ.ศ. 2419 หลายคนเรียกพวกเขาว่า “ถิ่น” ซึ่งน่าแปลกที่พวกเขาไม่เคยเรียกขานตัวเองเช่นนั้น ยังแทนตัวเองว่าลัวะเสมอมา
ตามหัวมุมถนนทุกโค้งเลี้ยวในบ้านสะจุกมักเต็มไปด้วยผู้คนตรงร้านค้า ว่ากันว่าหมู่บ้านของคนลัวะแถบดอยขุนน้ำน่านนี้คือหนึ่งพื้นที่จรยุทธ์ช่วงชิงมวลชนในอดีต ระหว่างที่ผืนแผ่นดินเขตเขาเมืองน่านตกอยู่ในภาวะขัดแย้งทางอุดมการณ์ และเป็นฐานที่มั่นรวมไปถึงพื้นที่สู้รบระหว่างฝ่ายทหารของรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ความยากลำบากในอดีตที่รายรอบล้วนมีแต่ป่าเขา ส่งผลให้ชีวิตหมุนวนอยู่แค่ไร่นาตามฤดูกาล คนลัวะที่อพยพเร่ร่อนข้ามแดนดินลาวมาสู่เขตของน่านล้วนกลายเป็นประชากรชั้นสอง ความเป็น “ข้างบน” และ “ข้างล่าง” ดำเนินร่วมกันไปในความแปลกแยกและเส้นกั้นที่เรียกว่ากฎหมาย
เฒ่าชราไม่อาจลืมการเก็บภาษีอากร ทั้งพืชไร่ ที่ดิน ตอไม้ หรือแม้แต่เรื่องการแต่งกายในอดีตของหญิงลัวะ ที่ต้องเสียภาษีให้ในนามของการขูดรีด เป็นที่มาของคำว่า “ภาษีเต้านม” ทั้งหมดทั้งมวลก่อให้เกิดภาวะแห่งการไม่ยอม จนเป็นที่มาของกระบวนการต่อสู้ของคนบนภูเขา ขบวนการเจ้าต้นบุญ หรือที่ภาครัฐเรียกว่า “กบฏผีบุญบ้านห้วยชนิน” ราวปี พ.ศ. 2508 พวกเขาแสดงออกผ่านการเข้าทรงบอกต่อถึงการไม่ยอมถูกเอาเปรียบในด้านต่าง ๆ และพร้อมจะจับอาวุธเข้าต่อสู้
หลังการมาถึงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แนวคิดและอุดมการณ์ที่เอาความเท่าเทียมเป็นที่ตั้งเอื้อรับสำหรับคนไร้ที่พึ่งอย่างชาวลัวะเมืองน่าน พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมรบ และแปรเปลี่ยนขุนเขาให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความหวังร่วมกับ พคท.
ฐานที่มั่นของ พคท. ในเขตน่านค่อยเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งการสนับสนุนจากจีน ลาว และเวียดนาม จากการเริ่มต้นเงียบ ๆ ในปี พ.ศ. 2505 จนในปี 2511 หลังยุทธการทุ่งข้างอันลือลั่น เขตภูเขาแถบภูแวก็กลายเป็นเขต “ปลดปล่อย” เขตแรกของเมืองไทย ดินแดนน่านฝั่งตะวันออกตั้งแต่ปัว บ่อเกลือ ทุ่งช้าง เชียงกลาง และเฉลิมพระเกียรติ ที่เหยียดยาวด้วยผืนภูเขา นับร้อยกิโลเมตรกลายเป็นเขตปลดปล่อย ฐานที่มั่นของ พคท. ย้ายจากอีสานมาสู่น่าน จนมีสำนัก 708 แถบภูพยัคฆ์เป็นฐานที่มั่นหลัก
การต่อสู้ของคนบนภูเขากับรัฐบาลต่อเนื่องยาวนาน ภูเขาเปิดรับผู้คนอีกหลากหลาย ทั้งเหล่านักศึกษาที่เข้ามาร่วมกับ พคท. หลังเหตุการณ์นองเลือดที่ราชดำเนิน 6 ตุลาคม 2519 ความเป็นพี่น้องของนักคิด นักเขียน กวี และชาวบ้านต่างเดินไปบนหนทางเดียวกัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อโลกแบ่งเป็นสองขั้ว ลาวและเวียดนาม ต่างมุ่งปลดปล่อยตนเอง แดนดอยเขตน่านโดดเดี่ยวตนเองในหนทางปฏิวัติ รวมถึงนโยบายคืนเมือง เลขที่ 66/23 หลายคนวางปืนและเดินลงจากดอย ไร้เสียงปืนและการสู้รบ
ความหวังมีหน้าตาเป็นเช่นไร คงเหลือเพียงผู้คนแห่งขุนเขาที่ต้องเดินต่อและไถ่ถามเอากับปัจจุบันอันเป็นไป
จากบ้านสะจุกที่เรียงรายสองฟากถนน เราไต่เลาะสันเนินชันขึ้นไปบนพื้นผิวดินหมาดฝน บ้านสะเกี้ยงวางตนเองไปตามไหล่ดอย นาขั้นบันได และสวนกล้วยถูกปลูกเป็นหย่อมย่าน มันค่อนข้างเรียบง่าย แม้ไม่เหมือนกับที่เคยผ่านมาในยุคปู่ย่า หลายคนกำลังคัดเลือกสารกาแฟ เมล็ดดิบที่พวกเขาได้รับการส่งเสริมให้ปลูกเพื่อส่งต่อไปด้านล่าง ยังไม่นับรวมผักเมืองหนาวผลไม้นานาที่พวกเขารอเวลาอันเหมาะสมที่จะลงมือปลูก
ขณะที่ใครสักคนทอดมองไปยังทะเลภูเขายาวไกลเบื้องล่าง ผืนป่าที่หดหายห่มคลุมด้วยแปลงพืชไร่อย่างข้าวโพด ทว่าชีวิตเหนือแดนดอยอย่างบ้านสะจุกและสะเกี้ยงยังมีคำตอบในหนทางใหม่ที่พวกเขาเลือกเดิน หนทางที่พาตัวเองผสานรวมไปกับพืชผล และความคิดความเชื่อที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ หนทางของพวกเขาเป็นเช่นไร เราคล้ายจะพบว่ามันเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นของคนหลายกลุ่มเหนือดอยขุนน้ำน่านในหลายวันต่อมา
2. ทางชันสายนั้นยกตัวขึ้นเหนือความสูงกว่า 1,200 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ก่อนถึงบ้านสะจุกเล็กน้อย ยามเย็นเป็นเรื่องงดงามเมื่อเราขึ้นไปเยือนสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ถนนเวียนวนเพื่อลดความชันของแนวสูง แปลงชาอูหลง ข้าว และสวนกล้วยลัดหลั่นเล่นระดับ หลังฝนโปรยเรากระโดดลงจากรถเพื่อเพ่งมองรุ้งกินน้ำตัวโตพาดผ่านทิวดอยโลกกสิกรรม และปราการขุนเขากว้างไกล
แลนด์สเคปแสนสวยภายในสวนทั้งบ้านพัก โรงเรือน ใช่เพียงพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยว ทว่ามันเป็นดั่งต้นทางของการดูแลพี่น้องชาวลัวะทั่วแดนดอยขุนน้ำน่าน พี่หล้า-เจษฎา มาเมือง ค่อยพาเราเวียนแวะไปตามทางเล็ก ๆ ที่ไต่ขึ้นไปสู่สานเฮลิคอปเตอร์ พื้นที่เสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
“เราเริ่มจากให้พวกเขาหยุดการทำไร่เลื่อนลอย ลดการทำไร่ข้าวโพด หันมาให้ความสำคัญกับการปลูกพืชเมืองหนาว กาแฟ ผักผลไม้ ที่สำคัญต้องให้มากไปด้วยการต่อยอดสืบเนื่อง” พี่หล้าว่าการเริ่มต้นนั้นยาก ใครเลยจะคิดว่ามันจะขายได้ แต่นั่นมันเป็นเรื่องนานมากกว่า 10 ปีแล้ว
“เรามุ่งหวังเก็บพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไว้ ถนอมป่าต้นน้ำที่เคยสูญหาย” พี่หล้าบอกถึงจุดมุ่งหมายจริงแท้ของสถานีพัฒนาการเกษตร
จากบ้านอันถูกกดทับ เอารัดเอาเปรียบ เปลี่ยนเป็นโลกแห่งอุดมการณ์และการสู้รบ ณ วันที่ภูเขาทิวเดิมอ่อนล้าจากการปรับใช้ หลายคนที่นี่เริ่มรู้ว่าชีวิตอันสุขสงบอาจเริ่มได้ด้วยการดูแลผืนแผ่นเดิน
ภายในพื้นที่ของสถานีพัฒนาการเกษตรคือโลกแห่งการดูแลชาวบ้าน โรงเรียนอนุบาลปศุสัตว์ ด้านในเต็มไปด้วยแพะ หมูดำ ไก่สายพันธุ์พื้นเมือง ทั้งไก่ม้ง ที่อึด ทน รวมไปถึงไก่ลัวะ ยังมีเป็ดเทศที่ให้ไข่กินได้ “เราเริ่มต้นให้พวกเขาก่อน ใครต้องการเลี้ยงสัตว์มารับไปได้เลย”
ใกล้ลานเฮลิคอปเตอร์คือชายแดนไทย-ลาว พี่น้องชาวลัวะที่มารับจ้างทำงานในโครงการจ่อมจมตัวเองตรงแปลงกล้าพันธุ์มะขามป้อม หมามุ่ย ฤดูกาลผักยังมาไม่ถึง ไม้พันธุ์ต่าง ๆ เวียนหมุนหลากหลาย จากระยะแรกเริ่มที่จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตร งานหลักคือรักษาป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูสภาพดินที่ผ่านการอยู่กินแบบปล่อยมายาวนาน
“ตอนนั้นด้วยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถครับ ท่านขอให้เก็บพื้นที่ต้นน้ำน่านนี้ไว้ให้สมบูรณ์ งานของพวกผมเริ่มขึ้นหลังจากนั้น คือทำอย่างไรให้พวกเขาอยู่ได้ เรามีแต่ให้ครับ ให้กล้าพันธุ์ให้ความรู้ให้งาน รวมไปถึงหาตลาดให้” งานของเขาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ด้วยหัวใจของคนที่มาทำงานอย่างจริงจัง คนที่นี่ถึงเข้าใจ
นั่งกันอยู่ในโรงอาหารของสถานีพัฒนาการเกษตร กาแฟกรุ่นหอม รอบด้านคืองานการอันไม่เคยสิ้นสุด เราเฝ้ามองดูหนทาง “แรกเริ่ม” ของพวกเขาที่ทอดยาว จากกล้าพันธุ์เล็ก ๆ เกี่ยวโยงชีวิตคนของขุนเขา ไล่เลยไปสู่วันที่ผลิตผลออกดอกงอกเงย ใครต่อใครก็อยากขึ้นมาเยือนที่นี่พร้อมสายลมหนาว นาทีเช่นนั้นโลกกลางขุนเขาที่สะจุก-สะเกี้ยง อาจหาใช่พื้นที่แปลกเปลี่ยวเดียวดายเช่นในอดีตที่ผ่านพ้นล่วงเลย