บทความพิเศษ โดย ดร. กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้เคยให้หลักคิดถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษาไว้ว่า “การศึกษา คือการทำคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” เพราะการศึกษามิใช่เป็นไปเพื่อให้ความรู้และสร้างทักษะเชิงวิชาการ หรือนำความรู้ที่เรียนมาไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพเท่านั้น แต่ผู้ได้รับการศึกษาต้องถึงพร้อมในการพัฒนา ด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม การศึกษาต้องสร้างทั้งคนเก่ง และคนดี การจัดการศึกษาให้ประสบความสำเร็จมีฉันทะหรือความพอใจในการเรียนรู้ เป็นตัวนำ “ฉันทะ จึงถือเป็นรุ่งอรุณของการศึกษาอย่างแท้จริง”
UNESCO ก็นำเสนอหลักของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ ไว้เช่นเดียวกันว่า Learning : The Treasure Within การเรียนรู้คือขุมทรัพย์ในกายตน มีองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้ คือ การเรียนเพื่อรู้ (Learning to know) การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง (Learning to do) การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Learning to live together) และ การเรียนรู้เพื่อชีวิต (Learning to be)
เพลโต ได้เคยกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง The Republic ว่า” ประเทศเป็นเช่นไรการศึกษาก็เป็นเช่นนั้น” อันหมายถึงสังคมต้องมีการศึกษาเป็นเครื่องมือให้ความรู้ และหล่อหลอมให้คนในชาติมีคุณลักษณะร่วมไปในทิศทางเดียวกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยรวม การศึกษาจึงมิได้เป็นไปเพื่อพัฒนาเฉพาะปัจเจกบุคคลให้มีความรู้ หรือเพื่อประกอบอาชีพได้เท่านั้น แต่จะต้องเป็นไปเพื่อส่วนรวมและเพื่อการพัฒนาประเทศด้วย
ในประเทศไทย ทิศทางการพัฒนาใช้กรอบแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
นิยามของความมั่นคง คือความปลอดภัยจากภัยและการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมไปถึงภัยจากเทคโนโลยี ภัยธรรมชาติ และโรคระบาด ประเทศต้องมีเอกราช อธิปไตยมีสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง มีความรักสามัคคี ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต ปลอดภัย และมีทรัพยากรพื้นฐานเพียงพอ
ความมั่งคั่ง หมายถึง การพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุนมนุษย์ ทุนทางปัญญา ทุนการเงิน และทุนทางสังคม การพัฒนา การผลิต การค้า การลงทุน การทำธุรกิจ คมนาคมขนส่ง ต้องนำไปสู่การสร้างรายได้ที่เป็นธรรมแก่ประชาชน คนทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน และประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
ความยั่งยืน คือการพัฒนาที่สามารถสร้างความเจริญ สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับกฏระเบียบของประชาคมโลก มีความรับผิดชอบต่อสังคม เอื้ออาทร เสียสละเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ภายใต้หลักคิดตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน
การขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ความสำเร็จในสามส่วนนี้ จำเป็นต้องมี New Engines for Growth เพื่อขับเคลื่อน อันนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม หรือ Innovation เพื่อการสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยผ่านฐานเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญสูงนั่นคือ Food& Agriculture,Health & Wellness,Smart Devices&Robotics,Digital&IOT และ Creative,Culture&High Value Services โดยเชื่อว่าการพัฒนาฐานเศรษฐกิจ 5 ด้านนี้จะนำไปสู่การมีนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศถือเป็นภารกิจสำคัญ ที่เราจำเป็นจะต้องก้าวไปให้ถึง
การศึกษาจะสามารถพัฒนาไปสู่สิ่งที่สังคมคาดหวังได้ จำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือการทำให้ประชาชน เข้าถึงการศึกษา มีความเท่าเทียม ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพ และการศึกษาต้องตอบโจทย์บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ในขณะที่ผลลัพธ์สุดท้ายซึ่งหวังว่าจะเกิดขึ้น คือ1) ผู้เรียนหรือเด็กไทยมีคุณลักษณะและทักษะ 3R (Reading Writing Arithmetics) อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น มีคุณลักษณะของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ 8C ( Critical Thinking and Problem Solving,Creativity and Innovation,Cross-cultural Understandings,Collaboration Teamwork and Leadership,Communication information and Media literacy,Computing and ICT Literacy,Career and Learning Skills และ Compassion),2) สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีองค์ความรู้ มีสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การทำให้ประชาชนพ้นจากสภาพปัญหา โง่ จน เจ็บ และ 3) ประเทศได้รับการพัฒนาให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ทุกคนอยู่ดีกินดี มีรายได้สามารถเลี้ยงชีพและดำเนินชีวิตอย่างสงบสุข
การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้ และถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้กับประชาชน รวมทั้งทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ การศึกษาจึงแยกไม่ออกจากทิศทางการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงสังคม ในสภาพปัจจุบันซึ่งความเปลี่ยนเเปลงของโลกมีพลวัตสูง คนใน generation ใหม่ มีลักษณะที่ต่างไปจากในอดีต และผลกระทบจากปัญหาของโลกในทุกด้าน การวางบทบาทของนักการศึกษา ผู้บริหาร ครู อาจารย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงมีความสำคัญ ต้องตื่นตัว เรียนรู้ ต้องหาเเนวทางและรูปแบบใหม่ในการจัดการศึกษา และหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และประเทศ เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ สนองตอบความต้องการตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน