(9 เม.ย.65)นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวกรณีนำวัคซีนโควิด-19 ให้นายสุทธิพล พัชรนฤมล ผู้อำนวยการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พนักงานบริษัทซิโน-ไทยฯจำนวน 5 โดสว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดนั้น
ตนขอยืนยันว่าทั้ง 2 คนแถลงข่าวเท็จต่อสาธารณชน ดังนั้น
เพื่อพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์และปรากฏต่อสาธารณชนจึงขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่โดยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าผิดกฎหมายและประมวลจริยธรรมข้าราชการรัฐสภาหรือไม่
โดยเร็วที่สุด
นายวัชระ ย้ำว่า นางพรพิศ รู้ดีอยู่แก่ใจว่าได้ทำอะไรไปบ้าง แต่กลับมาแถลงข่าวขัดต่อข้อเท็จจริงที่มีอยู่ กระทบกระเทือนต่อความน่าเชื่อถือของสภาต่อสาธารณชน จึงต้องยื่นหนังสือให้นายชวนสอบสวนในกรณีนี้ด้วย การแถลงข่าวดังกล่าวยังชี้ว่านางพรพิศ ยอมรับว่าได้เคยแถลงกรณีคณะกรรมการตรวจการจ้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่มีมติไม่ขยายเวลาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาครั้งที่ 5 ด้วยมติ 6 ต่อ 3 จริง ทั้งๆที่ความจริงมีมติ 6 ต่อ 2 แต่นางพรพิศกลับเพิ่มคะแนนเอียงข้างบริษัทผู้รับเหมาอีก 1 คะแนน เป็น 6 ต่อ 3
โบราณเขาเรียกว่า ใจหรือปากมันฟ้องต่อสาธารณะใช่หรือไม่
ถ้าตนไม่ทักท้วง นางพรพิศก็จะปล่อยเลยตามเลยหรือไม่
และกรณีไม้ปูพื้นที่ข้อกำหนดในสัญญาว่าเป็นไม้ตะเคียนทองแล้ว กรมป่าไม้พิสูจน์แล้วว่าเป็นไม้พะยอมนั้น นางพรพิศและนายสาธิตแถลงว่ากรณีนี้ยังมีการตรวจรับไม่แล้วเสร็จนั้น
เป็นการแถลงข่าวเท็จอย่างสิ้นเชิง เพราะคณะกรรมการตรวจการจ้างฯที่มีนายสาธิตเป็นประธานการตรวจการจ้างได้จ่ายเงินค่างวดงานค่าไม้ทั้งหมดสิ้นเสร็จให้กับบริษัทซิโน-ไทยฯไปแล้วในสมัยของนางพรพิศ เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง นางพรพิศจะมาทำเฉไฉไม่รู้เรื่องไม่ได้ เท่ากับว่ากรณีฉ้อโกงเรื่องไม้นั้นมีความผิดอาญาสำเร็จแล้ว
รวมถึงความรับผิดทางวินัย แพ่ง และละเมิด อันเป็นเหตุเพื่อใช้ในการบอกเลิกสัญญาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่กับบริษัทผู้รับเหมาได้ หากนางพรพิศนิ่งเฉยหรือละเว้นก็ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อไป คนที่เป็นเลขาธิการสภาฯต้องเป็นแบบอย่างในการรักษากฎหมายและจริยธรรม หากผู้มีส่วนรับผิดชอบไม่ดำเนินการตามกฎหมายก็จะถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดำเนินการตามกฎหมายอาญาและกฎหมายปปช.ต่อไปเหมือนเช่นอดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 2 คนก่อนหน้านี้
เมื่อนางพรพิศและนายสาธิตแถลงข่าวอันเป็นเท็จเมื่อวานนี้
จึงเข้าข่ายความผิดตามประมวลจริยธรรมข้าราชการรัฐสภาข้อ 8 ที่ระบุว่าซื่อสัตย์ สุจริต ซื่อตรง และ ข้อ 9 ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบอย่างเคร่งครัด เมื่อข้อเท็จจริงประจักษ์ชัดว่าเป็นการละเมิดจริยธรรมก็จะได้ส่งหนังสือร้องเรียนต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานจริยธรรมต่อไป ซึ่งประมวลจริยธรรมข้าราชการรัฐสภานี้ประกาศใช้เมื่อพ.ศ.2554 สมัยนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภา นางพรพิศ จะอ้างไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้เพราะเคยเป็นหน้าห้องนายชัยอยู่ในขณะนั้น