จีนประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีการเกษตร เครื่องจักรกลอัจฉริยะ เพิ่มผลผลิตมากขึ้น
กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีน (中华人民共和国农业农村部) เปิดเผยถึงความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะในการเพาะปลูกของฤดูใบไม้ผลิในปีนี้ เครื่องจักรกลอัจฉริยะด้านการเกษตร (智能农机) ได้กลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้การเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรได้ผลดียิ่ง เนื่องจากเมื่อปลายปีที่แล้ว จีนได้ติดตั้งระบบเป่ยโต่ว (北斗) กับเครื่องจักรกลอัจฉริยะด้านการเกษตรจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ เครื่อง ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้ช่วยในการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างแม่นยำและช่วยในการป้องกันแมลงที่เป็นศัตรูพืชได้ทันเวลามากขึ้น กล่าวคือ
๑. นายหม่า หงกวง (马红光) ผู้อำนวยการสหกรณ์การเกษตรทันสมัยลวี่กู่เฟิงของเขตเซียงหยัง กล่าวว่า เมื่อเทียบกับเครื่องจักรกลเก่า เครื่องจักรกลอัจฉริยะใช้แรงงานต่ำทำงานแม่นยำขึ้นจึงกลายเป็นผู้ช่วยที่ดีของชาวนา โดยที่นาข้าวสาลีของหมู่บ้านว่ายโกว เขตเซียงหยัง เมืองเซียงหยัง มณฑลหูเป่ย ซึ่งได้ใช้โดรน (无人机) ที่ได้ติดตั้งระบบเป่ยโต่วและมีหน้าจอของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำให้สามารถพ่นยาฆ่าแมลงด้วยความแม่นยำ รวมทั้งประหยัดปริมาณน้ำและน้ำยาได้เป็นจำนวนมาก
๒. นายอวี๋ เถี่ยหลง (于铁龙) เจ้าหน้าที่ทางเทคนิคของศูนย์การเกษตรและเครื่องจักรกลอัจฉริยะ ในมณฑลเฮยหลงเจียง กล่าวว่า การทำงานแบบไม่ใช้แรงงานคนในกระบวนการผลิตเพียงส่วนเดียวเป็นรูปแบบการทำงานที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในฟาร์มชีซิง ของกลุ่มบริษัทเป่ยต้าฮวง โดยปีนี้จะทำให้กระบวนการผลิตข้าวเป็นแบบไม่ใช้แรงงานคนในทุกขั้นตอนบนที่นาประมาณ ๑๕,๐๐๐ หมู่ หรือ ๑,๐๐๐ เฮกตาร์ (หน่วยพื้นที่ของจีน ๑ หมู่ เท่ากับ ๑๕ เฮกตาร์)
๓. นายหลิ่ว อี้หลง (柳义龙) เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับที่นาของสหกรณ์การปลูกธัญญาหารเคอโยวของอำเภอหนิงจิ้น มณฑลเหอเป่ย แนะนำว่า สำนักงานเกษตรและกิจการชนบทของอำเภอหนิงจิ้นได้สร้างสถานีตรวจโรคและแมลงที่เป็นศัตรูพืช โดยใช้โดรนในการทำงานทางด้านการป้องกันแมลงและการกำจัดวัชพืช ทำให้สามารถดูแลสภาพของต้นกล้า ความชื้น โรคและแมลงในที่นา รวมทั้งคาดการณ์ประเภทและแนวโน้มของแมลง ตลอดจนการพ่นยาก็เป็นการดำเนินงานตามข้อเสนอของเจ้าหน้าที่เทคนิค นอกจากนี้ อำเภอหนิงจิ้นยังได้สร้างจุดสำรวจอุตุนิยมวิทยา ๑๙ จุด ครอบคลุมที่นาประมาณ ๑.๐๙ ล้านหมู่ หรือ ๗๒,๖๖๗ เฮกตาร์ ซึ่งสามารถกำกับดูแลองค์ประกอบทางอุตุนิยมวิทยาได้ ๑๐ อย่าง เช่น อุณหภูมิ ปริมาณน้ำ และปัจจัยอื่นๆ ตลอดเวลา รวมทั้งสามารถให้การบริการทางอุตุนิยมวิทยาและการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้ชาวนาบริหารที่นาได้ดีขึ้นและช่วยลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้อีกด้วย
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.news.cn/local/2022-03/27/c_1128507906.htm )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
10/4/2022