ที่หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธี “วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์” โดยมี ข้าราชการ ตุลาการ อัยการ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกเหล่ากาชาด สมาคม ชมรม ประชาชนจิตอาสา ร่วมประกอบพิธี
โดยพิธีเริ่มจากพิธีสงฆ์ จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ประธานในพิธีได้วางพานพุ่ม จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์บรมราชจักรีวงศ์
วันที่ 6 เมษายนของทุกปีเป็น วันจักรี หรือวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีสืบทอดต่อจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และทรงสร้างกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงของไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พุทธศักราช 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ คือรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการและประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาทและพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 พระองค์ มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดรในวัดพระศรีรัตนศาสดารามพร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ 6 โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาท การซ่อมแซม ก่อสร้าง และประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนในปีนั้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “วันจักรี” นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
มนสิชา คล้ายแก้ว/สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์ช