สี จิ้นผิง ปธน.จีน “สร้างหลักประกันความมั่นคง ทางด้านอาหาร ให้แก่ประชาชนจีน”
แนวทางของจีนในการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางธัญญาหาร ซึ่งมาจากแนวคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่กล่าวเน้นว่า “ชามข้าวของคนจีนจะต้องถือไว้อย่างมั่นคงด้วยมือของตัวเอง จึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการยกระดับการผลิตข้าวและธัญพืชที่สำคัญ ให้มีความปลอดภัยและสามารถป้อนความต้องการบริโภคภายในประเทศได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากตลาดต่างประเทศ” กล่าวคือ
๑. หลังเกิดการระบาดของโควิด หลายประเทศพากันประกาศนโยบายจำกัดการส่งออกธัญญาหาร ทำให้อาจเกิดความกังวลว่า ธัญญาหารที่ขายในตลาดจีนจะไม่เพียงพอ จึงทำให้กระทรวงพาณิชย์จีนต้องออกมาชี้แจง ในขณะที่มีรายงานว่า จีนประสบความสำเร็จในด้านความมั่นคงทางธัญญาหาร โดยใช้พื้นที่ไร่นาจำนวน ๙% ของทั่วโลก และทรัพยากรน้ำจืดจำนวน ๖% ของโลก เลี้ยงดูประชากรจำนวน ๒๐% ของโลก (จีนมีประชากร ๑,๔๐๐ ล้านคน) และได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์จากความอดอยาก มาเป็นพอกินพอใช้ และอยู่ดีกินดี
๒. รัฐบาลจีนได้เน้นการจัดการแก้ปัญหาความอดอยากของประชาชน โดยถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญอันดับแรกในการบริหารบ้านเมือง และได้ออกสมุดปกขาวว่าด้วยธัญญาหารจำนวน ๒ ฉบับ ในปี ๑๙๙๖ (พ.ศ.๒๕๓๙) และปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) เพื่อรักษาความมั่นคงทางธัญญาหารของจีน ซึ่งมุ่งยืนหยัดในยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ด้วยการสร้างจุดยืนจากในประเทศ มีการประกันขีดความสามารถด้านการผลิต และมีการนำเข้าอย่างพอควร รวมทั้งมีการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสนับสนุนการพัฒนารักษาความมั่นคงด้านธัญญาหาร
๓. ภายในปี ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕) จีนจะมีความพร้อมในระบบข้อมูลเพื่อสร้างแผนที่พื้นที่เพาะปลูก การปรับปรุงข้อมูลสารสนเทศและการควบคุมการเกษตรแบบแม่นยำ โดยเฉพาะการสร้างเขตพื้นที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช และเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการพัฒนาศักยภาพในการผลิต โดยมีระบบการบริหารจัดการที่พร้อม และเป็นการทำเกษตรแบบสมัยใหม่
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.lswz.gov.cn/html/zt/sjlsr2020/2020-11/05/content_261636.shtml )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
5/4/2022