วันที่ 25 มีนาคม 2565 : นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” และ กศน.ปักหมุด เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ณ ศาลา กศน.รวมใจ กศน.อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ โดยมี นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.วรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามตรวจสอบการบริหารจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมลงพื้นที่ด้วย และมี นางแว่นฟ้า ทองศรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ,นายสายลิขิตชัย พลไธสง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) บึงกาฬ,นายศรายุทธ ธิศรีชัย รอง ผอ.สพม.กทม.1,นายนรพัฒน์ สิทธิจักษ์ รอง ผอ.สพม.บึงกาฬ,นายพิทักษ์ ราชาทุม รองผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัดบึงกาฬ,ผอ.กศนจากทุกอำเภอ,บุคลากร และเจ้าหน้าที่ ร่วมให้การต้อนรับ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในวันนี้ “ครูโอ๊ะ” รู้สึกเป็นเกียรติและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” และ กศน.ปักหมุด เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ของจังหวัดบึงกาฬ ทั้งยังได้รับรายงานสรุปสถิติการดำเนินโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ซึ่งสามารถค้นหา นักเรียน นักศึกษา จากทุกสังกัดได้จำนวน 350 คน จำแนกเป็น สพฐ.171 คน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 131 คน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 21 คน และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 27 คน ทั้งนี้เมื่อจำแนกสาเหตุการหลุดออกจากระบบ จะพบว่าเกิดจากหลากหลายมิติ เช่น การคมนาคมไม่สะดวก สุขอนามัย ความพิการ ความจำเป็นทางครอบครัว สภาพของครอบครัว จบการศึกษาภาคบังคับและไม่ประสงค์จะเข้าเรียนต่อ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อายุพ้นเกณฑ์และไม่เรียนต่อ เข้าเรียนในสถานศึกษาสังกัดอื่น เรียนต่อต่างประเทศ เสียชีวิต เป็นต้นซึ่งถือเป็นขอมูลที่เป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง
ขอขอบคุณการเตรียมงานและการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ทั้งนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การนำของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.และนโยบาย “กศน. WOW (6G)” ของครูโอ๊ะ ซึ่งเริ่มจาก Good Teacher ที่พวกเราเป็นกันอยู่ครอบคลุมในทุกมิติเพราะเราเป็นครูพันธุ์พิเศษ สามารถปรับตัว และนำมาประยุกต์ใช้ในทุกๆงานที่ได้รับการมอบหมายและนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ Good Innovation การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและกลุ่มเป้าหมาย Good Partnership เป็นงานเครือข่ายที่เราทำกันอยู่มีการสร้างเครือข่ายหลากหลายมิติ Good Place เป็นสิ่งต่างๆที่พวกเราทำตลอด Good Activities ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ และ Good Learning ที่เราทำร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง
“ครูโอ๊ะ ยังมีความประทับใจกับการต้อนรับเมื่อครั้งแรกที่เคยมาเยือนจังหวัดบึงกาฬ เพราะทุกท่านให้การต้อนรับจากหัวใจอันงดงามท่ามกลางสายฝน สิ่งที่สัมผัสในครั้งนั้นคือทราบซึ้งใจมาก ทุกคนถอดรองเท้าเพราะฝนตกหนัก ครูโอ๊ะก็ถอดเหมือนกันเพราะเราหัวใจเดียวกัน ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องขับเคลื่อนและปรับตัว แต่เราชาว กศน.ก็สามารถทำได้ กระทั่งมาถึงโครงการ พาน้องกลับมาเรียน โครงการนี้ต้องเกิดขึ้น เพราะพบว่ามีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก เมื่อเด็กออกจากระบบการศึกษาอยู่ในระบบ สพฐ.ไม่ได้ จึงต้องมาเรียนกับ กศน. ซึ่ง กศน.ก็พร้อมรับ โดยครู กศน.จะใช้หลักจิตวิทยาและหัวใจ มาจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้พิการ ผ่านการ ปักหมุด กศน. ซึ่งจะให้การดูแลผู้พิการ ที่ถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยจพให้การดูแลครอบคลุมถึงการดูแลครอบครัว จัดการเรียนการสอนตามความต้องการ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงให้กับผู้พิการและครอบครัวต่อไป
กศน.ถือเป็นครูพันธุ์พิเศษ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างดีเยี่ยมในทุกมิติ รวมไปถึงเรื่องการดูแลสุขภาพ ซึ่งมีการจัดกิจกรรม กศน.ป้องกันภาวะซึมเศร้าคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมอง ของผู้สูงอายุ โดย กศน.บึงกาฬ เข้าร่วมอบรมรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นรุ่นที่มีการบูรณาการการทำงานได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ “ครูโอ๊ะ” ขอฝากให้ กศน.นำหลักอิทธิบาท 4 ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย ฉันทะ รักในหน้าที่ ศรัทธาในความเป็นครูเป็นคน กศน. วิริยะ พากเพียรกับสิ่งที่ทำ ทำด้วยใจรัก ค้นหาสิ่งที่จะนำสู่ความสำเร็จ จิตตะ ทำด้วยจิตอันมุ่งมั่น และวิมังสา รอบคอบแก้ไข ซึ่งหลักอิทธิบาท 4 เหนือกว่าหลัก PDCA คือมีการสอนให้นำไปประยุกต์ใช้ ใช้หลักอิทธิบาท 4 นำชีวิตเพื่อเริ่มต้นทุกวันด้วยสมาธิ ใช้สมาธิเพื่อก่อเกิดสติและปัญญา ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ทั้งนี้หากใครมีข้อเสนอแนะหรือข้อเรียกร้อง สามารถเข้าไปฝากเรื่องได้ที่ เฟสบุ๊ก “พี่โอ๊ะ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์- เพจ “เพราะครูโอ๊ะใส่ใจในทุกมิติ เพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รักกันตลอดไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน